ขณะเดียวกันในส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการศึกษาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม จากผลการศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม พบว่า โครงการปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำน้ำอูนเป็นโครงการที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ตามแผนงานระยะเร่งด่วน รวมทั้งองค์ประกอบในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูนจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำอูน รวมทั้งช่วยในการบรรเทาอุทกภัยท้ายอ่างน้ำอูนในบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากน้ำแม่น้ำโขงด้วย
ขณะนี้การจัดทำแผนหลักการพัฒนาทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงครามใกล้จะแล้วเสร็จ เหลือเพียงการนำความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากเวทีการมีส่วนร่วมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11-12 พ.ย.ที่ผ่านมา มาวิเคราะห์ประมวลผลและสรุปเป็นร่างแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำสงครามที่สมบูรณ์ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามแนวทางการศึกษาที่มุ่งเน้นการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่สามารถปรับตัวได้ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ขณะเดียวกัน ยังมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร รักษาระบบนิเวศและคุณภาพน้ำ รวมถึงอนุรักษ์ฟื้นที่ทรัพยากรประมงและป่าไม้
ทั้งนี้ แผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำสงครามปี (ปี 2565-2580) มีแผนงานโครงการที่ดำเนินการโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ประกอบด้วยโครงการ/มาตรการที่เป็นสิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 2,894 โครงการ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 422 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.3 ล้านไร่ พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 461,680 ไร่
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม เพื่อจัดทำเป็นแผนหลักการพัฒนาทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงคราม สทนช.จะพิจารณาเพียงกรอบแนวทางดำเนินการที่มุ่งสู่การจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำสงครามเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในพื้นที่ ก่อนส่งต่อผลการศึกษาให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการและเสนอแผนงานขอรับการจัดสรรงบประมาณตามลำดับความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนของโครงการ เช่น กรณีโครงการประตูระบายน้ำบ้านดอนแดงจะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากไว้ในลำน้ำสาขาก่อนไหลลงโขงได้ โดยไม่กระทบต่อการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงนั้น กรมชลประทานจะต้องนำผลการศึกษาตามแผนหลักฯ ไปทบทวนความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการโครงการต่อไป
"หากดำเนินการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามแผนหลักแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ลุ่มน้ำสงครามมีแหล่งน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้น บรรเทาผลกระทบน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ เพิ่มความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภค และภาคการผลิต ที่สำคัญ คือ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทาม ที่เป็นแหล่งวางไข่ของปลา รวมถึงการคืนความสมบูรณ์ให้กับพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชในแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบัน สทนช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนดำเนินการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำแม่น้ำโขงภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ชี มูล ซึ่งเปิดโครงการนำร่องที่ จ.บึงกาฬ เป็นแห่งแรก ก่อนขยายผลไปยังอีก 7 จังหวัดริมน้ำโขงด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง โดยเป็นการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำให้เกิดความเข็มแข็งและมีประสิทธิภาพ" นายสมเกียรติ กล่าว