นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงข้อเท็จจริงการติดเชื้อโควิด-19 ของหญิงไทยอายุ 29 ปี ที่ จ.เชียงใหม่
โดยกรณีหญิงไทยอายุ 29 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. รายนี้เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากช่วงวันที่ 24 ต.ค. ถึง 23 พ.ย. ไปทำงานที่เมียนมา โดยวันที่ 23 พ.ย. เริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว รับประทานยาลดไข้เอง ต่อมาวันที่ 24 พ.ย. เดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเมื่อเวลา 05.30 น. ทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วเดินทางเข้าอำเภอเมือง เชียงราย ด้วยรถตู้ และเข้าจังหวัดเชียงใหม่โดยรถบัสโดยสารประจำทางปรับอากาศ ออกเวลา 11.00 น. ถึงเชียงใหม่เวลา 14.51 น. และใช้บริการ Grab Car คันแรกกลับคอนโด ช่วงกลางคืนมีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ย่านสันติธรรมร่วมกับเพื่อน 2 คน มีการสูบบุหรี่ร่วมกัน เวลา 02.00 น. เข้าพักค้างคืนที่คอนโดแห่งหนึ่งของเพื่อนที่มาจากสถานบันเทิงด้วยกัน และมีเพื่อนอีก 2 คนจากห้องตรงข้ามเข้ามาร่วมดื่มสุราด้วย
วันที่ 25 พ.ย. เวลา 12.00 น. เดินทางออกจากคอนโดของเพื่อนกลับไปที่พักโดยใช้บริการ Grab Car คันที่สอง ถึงเวลา 13.00 น. ต่อมาใช้บริการ Grab Car คันที่สามไปห้างสรรพสินค้า โดยอยู่ในห้างตั้งแต่เวลา 15.30 - 20.30 น. และชมภาพยนตร์ รับประทานอาหารและเดินซื้อของ จากการติดตามดูกล้องวงจรปิด สวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนใหญ่ แล้วใช้บริการ Grab Car คันที่สี่กลับคอนโดของตนเอง
ส่วนวันที่ 26 พ.ย. เวลา 15.30 น. ใช้บริการ Grab Car คันที่ห้า เพื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากยังมีอาการป่วย โรงพยาบาลซักประวัติเพิ่มเติมพบอาการไม่ได้กลิ่น มีอุณหภูมิ 36.9 องศาเซลเซียส เข้าได้กับโรคโควิด 19 จึงส่งตรวจเชื้อ ผลออกเวลา 22.00 น.พบเป็นบวก จึงส่งรักษาต่อโรงพยาบาลนครพิงค์ ผลตรวจยืนยันเป็นบวกเช่นกัน
สำหรับสถานที่ต่างๆ ที่หญิงรายนี้เดินทางไปใช้บริการ ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าตรวจสอบและให้ทำความสะอาดแล้ว ทีมสอบสวนโรคกำลังติดตามผู้สัมผัส 326 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 105 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 65 ราย (คอนโดผู้ป่วย 2 ราย คอนโดเพื่อน 2 ราย สถานบันเทิง 55 ราย ห้าง 6 ราย) ผู้สัมผัสกลุ่มยานพาหนะ 40 ราย (จังหวัดเชียงราย 35 ราย เป็นผู้เดินทางข้ามแดนด้วยกัน 1 ราย รถตู้ รถโดยสาร 34 ราย จังหวัดเชียงใหม่ 5 ราย คือ คนขับ Grab car)
ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 ราย แบ่งเป็นในชุมชน 140 ราย (สถานบันเทิง 2 ราย ห้าง 138 ราย) และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 9 ราย โดยประชาชนที่อยู่ในสถานที่เดียวกับหญิงรายดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกัน หรือสงสัยว่าอาจสัมผัสหญิงรายดังกล่าว สามารถเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและแนะนำให้ปฏิบัติตัวป้องกันการแพร่เชื้อโดยสวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และสังเกตอาการทางเดินหายใจ ทุกวันจนครบ 14 วัน หากมีข้อสงสัยโทรศัพท์สอบถามที่ 1422
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีกรณีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายเหตุการณ์ในประเทศไทยให้เรียนรู้ 9 กรณี คือ 1.ชาวเมียนมาติดเชื้อชายแดนอำเภอแม่สอด 5 รายในครอบครัวเดียวกัน ขณะนี้สถานการณ์ปกติแล้ว มีการขนส่งสินค้าข้ามแดนปลอดภัยแบบ Safety Zone ตรวจหาเชื้อพนักงานขับรถทุกสัปดาห์ เมื่อเจอผู้ป่วยส่งกลับไปรักษา ถือเป็นต้นแบบให้ด่านชายแดนอื่นๆ
2. หญิงชาวฝรั่งเศสที่เกาะสมุย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศที่สถานกักกันที่รัฐกำหนด พบปัญหาระบบระบายอากาศมีการปนเปื้อนเชื้อ จึงต้องเข้มในมาตรการทำความสะอาด และตรวจสอบระบบระบายอากาศ โดยสัปดาห์หน้าจะเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง
3. ชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าเมือง ที่ จ.พัทลุง เบื้องต้นให้ข้อมูลว่าเข้าทางอำเภอแม่สอด แล้วเดินทางไปสงขลา จากผลสอบสวนโรคได้ข้อเท็จจริงว่า มาจากชายแดนมาเลเซีย เป็นประสบการณ์ว่า ข้อมูลที่ได้ครั้งแรกอย่าปักใจเชื่อทั้งหมด เนื่องจากผู้กระทำผิดกฎหมายมักไม่บอกความจริง การสอบสวนโรคต้องอาศัยหลักฐานหลายๆ อย่าง โดยชายแดนยังเป็นจุดสำคัญที่ต้องระมัดระวัง
4. ชายอินเดียที่กระบี่มาตรวจโควิด-19 เพื่อสมัครงาน มีการเดินทางไปหลายจังหวัด ทำให้ต้องระดมทีมสอบสวนโรค เมื่อติดตามผู้สัมผัสทุกรายผลเป็นลบ คาดว่าเป็นการติดในประเทศ จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัวเป็นเชื้อโควิด-19 จริง แม้มีเชื้อปริมาณน้อยจึงอาจเป็นการติดเชื้อนานแล้ว บ่งบอกว่าคนเคยติดเชื้อยังตรวจเจอได้ แต่ไม่ไปติดผู้อื่น อนาคตอาจเจอกรณีนี้พอสมควร
5. ทหารเกาหลี ในการประชุมมีการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างอย่างดี ทำให้ติดตามผู้สัมผัสมากักกันและได้ตรวจทุกราย ผลไม่พบเชื้อ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากประเทศเกาหลีในการประสานข้อมูล พบว่า รายนี้พบเชื้อค่อนข้างน้อย เมื่อตรวจซ้ำผลเป็นลบ อาจเป็นการติดเชื้อก่อนหน้านี้นานแล้ว
6. รัฐมนตรีฮังการี ตรวจเจอตั้งแต่วันแรก จากการวางระบบทำให้ตรวจจับได้รวดเร็ว และการร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไทยส่งข้อมูลให้ทางการกัมพูชา ทำให้ตรวจเจอเชื้อที่กัมพูชาเพิ่ม 3-4 คน ส่วนท่านทูตฮังการีที่ติดเชื้อเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิด แต่มีการกักตนเองและใส่หน้ากาก ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อต่อ
7. ชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมืองในค่ายอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ ปริมาณเชื้อค่อนข้างน้อย อาจเป็นการติดเชื้อนานแล้ว ผู้สัมผัสในค่ายให้ผลเป็นลบ
8. หญิงอายุ 17 ปี ชาวไทยเมียนมา เป็นโรคพุ่มพวง มารักษาที่ไทย เป็นการติดเชื้อจากชายแดนและลักลอบเข้ามา
และ 9. ล่าสุดหญิงไทยอายุ 29 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการลักลอบเข้ามาเช่นกัน โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จะประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และตรวจสอบเพิ่มเติม
"สิ่งที่เรียนรู้จากเหตุการณ์ทั้งหมด คือ การใส่หน้ากากสม่ำเสมอในพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยป้องกันโรคได้ และการสอบสวนโรคได้รวดเร็ว เนื่องจากร้านค้า อาคาร พื้นที่สาธารณะมีกล้องวงจรปิดช่วยติดตาม การสแกนไทยชนะ แต่จุดเสี่ยงคือชายแดนยังคงต้องเข้มงวดเฝ้าระวังการลักลอบ โดยขอให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังด้วย หากพบผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ถึง 14 วัน ไม่ได้กักตัวให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค" นายแพทย์โอภาส กล่าว