นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก และทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล และนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งหมดประมาณ 5,274,333 ไร่ เป็นเกษตรกรจำนวน 478,760 ราย โดยได้สั่งการให้ กยท.เขต และ กยท.จังหวัดในภาคใต้เร่งสำรวจสวนยางที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่ง กยท.มีมาตรการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบอุทกภัยผ่านกองทุนพัฒนายางพารา โดยมีหลักเกณฑ์ต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายในคราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท
นอกจากนี้ กรณีสวนปลูกแทนที่ประสบอุทกภัยซึ่งหากพบว่าเสียสภาพสวนจะให้ระงับการปลูกแทน โดยไม่เรียกเงินคืนในส่วนที่เสียหาย จากนั้นจึงอนุมัติให้การปลูกแทนใหม่ แต่ต้องไม่เกินเนื้อที่ที่ระงับการปลูกแทน กรณีไม่เสียสภาพสวน ต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น (พืชหลัก) อายุไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถค้ำยันได้ ต้องปลูกซ่อมเท่านั้น กยท.จะช่วยเหลือเป็นเงินค่าปลูกซ่อมครั้งเดียว อัตราต้นละ 45 บาท ส่วนต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น ที่เสียหายเอนล้ม แต่สามารถตัดแต่งและค้ำยันให้ตรงได้ กยท. จะช่วยเหลือค่าค้ำยันครั้งเดียว โดยต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราต้นละ 35 บาท และต้นยางฯ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อัตราต้นละ 110 บาท
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชที่สามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้พอสมควรประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับน้ำและความยาวนานของน้ำที่ท่วมขัง ดังนั้นการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้นหลังจากน้ำลดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด กยท.แนะนำเกษตรกรสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วม รวมถึงการเฝ้าระวังเรื่องโรคยางพาราที่มากับช่วงหน้าฝน คือ โรคใบร่วงไฟทอฟธอรา (Phytophthora) เกษตรกรควรบำรุงรักษาสวนยางให้สมบูรณ์โดยใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน เพื่อสร้างความทนทานแข็งแรงให้ต้นยาง เกษตรกรในรายที่ปลูกพืชร่วมยาง ควรจัดการสวนยางให้โปร่งอยู่เสมอ ไม่ให้สวนยางมีความชื้นสูง และควรกำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางให้อากาศถ่ายเท ให้แสงแดดส่องได้สะดวกทั่วถึง เพื่อลดความชื้นในสวนยาง