นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ ที่ สทนช. อยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีความจุน้อยกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. กระจายอยู่จำนวนถึง 142,234 แห่ง รับผิดชอบโดย 10 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้น ซึ่งตามแผนการกระจายอำนาจลงสู่ระดับท้องถิ่นต่อไปจะเป็นภารกิจหลักที่หน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงเทศบาล มักประสบปัญหาในการเสนอแผนงานโครงการที่ท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ข้อมูล รวมทั้งข้อจำกัดด้านศักยภาพและงบประมาณการบำรุงรักษา ที่ขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างท้องถิ่นและหน่วยงานส่วนกลาง
ดังนั้น สทนช. จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่น ให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กภายในพื้นที่ของตนเอง โดยประยุกต์ใช้ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีตัวชี้วัด 8 มิติ เป็นเงื่อนไขในการลำดับความสำคัญความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย
ด้านต้นทุนทรัพยากรน้ำ การจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ความมั่นคงของน้ำเพื่อการพัฒนา ความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ การจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมน้ำ การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำและการจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยหน่วยงานท้องถิ่นจะต้องจัดแผนทำปฏิบัติการในระยะ 5 ปี ผ่านทางคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งหน่วยงานราชการจะสนับสนุนท้องถิ่นในการดำเนินการภารกิจถ่ายโอน ได้แก่ การจัดทำแผน ศึกษา สำรวจ ออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง บำรุงรักษา ผ่านกลไกลของคณะอนุกรรมทรัพยากรน้ำจังหวัด ก่อนเสนอต่อไปยังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบดำเนินการ 28 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดการขับเคลื่อนฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้น้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตรของคนในชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่มีอยู่เดิมให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีงบประมาณในการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างใหม่ที่มีความแข็งแรงมั่นคงไม่ประสบปัญหาเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีประโยชน์โดยตรงกับชุมชนที่ห่างไกลแหล่งน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน