นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ กรมชลประทานได้เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยได้ระดมเครื่องจักรเครื่องมือจากส่วนกลางลงช่วยพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยกรมชลประทานได้บริหารจัดการมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ผ่านอำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอเมืองตรัง และไหลลงทะเลอันดามันที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยได้จัดการจราจรน้ำด้วยการแบ่งมวลน้ำจากแม่น้ำตรังเข้าสู่คลองผันน้ำของโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง แต่สามารถช่วยระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้กับจังหวัดตรังได้กว่าร้อยละ 50 แต่เนื่องจากมวลน้ำที่ไหลมาจากอำเภอทุ่งสงมีปริมาณมาก ประกอบกับคลองผันน้ำดังกล่าว ไหลมาตัดกับถนนทางหลวง เส้นทางตรัง-สิเกา ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างสะพานรถยนต์ ทำให้บริเวณดังกล่าว ซึ่งแคบเป็นลักษณะคอขวด น้ำสามารถไหลผ่านไปได้เพียง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้มีปริมาณน้ำเอ่อล้นคันคลองไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอหนองตรุด อำเภอบางรัก อำเภอนาโต๊ะหมิงและอำเภอนาตาล่วง กรมชลประทานจึงได้เร่งระดมเครื่องสูบน้ำจากพื้นที่ต่างๆ เร่งสูบน้ำเพื่อช่วยเสริมและเร่งการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำตรังจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
"แม้ปัจจุบัน ระดับน้ำในแม่น้ำตรังได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานยังคงเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานท่าแก้มดำ อำเภอกันตัง ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำที่น้ำจากแม่น้ำตรังจะไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่อำเภอกันตัง และได้เริ่มเดินเครื่องผลักดันน้ำมาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เพื่อเร่งผลักดันน้ำให้ออกสู่ทะเลเร็วยิ่งขึ้น และหากระดับน้ำในคลองผันน้ำลดต่ำกว่าตลิ่ง กรมชลประทานจะได้เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ เข้ามายังคลองผันน้ำของโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง เพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมขังให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว" นายประพิศกล่าว