นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การเภสัชกรรม ลงนามความร่วมมือกับ บจก.ใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บจก. คินเจน ไบโอเทค ผนึกกำลังเป็นทีมไทยแลนด์ ในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องโรคโควิด-19 จากใบพืช ในประเทศโดยคนไทยเพื่อคนไทย
โดยได้ผนึกกำลังเป็น "ทีมไทยแลนด์" ถือเป็นความหวัง ความภูมิใจ และเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทยที่จะผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยสำเร็จลุล่วง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย องค์การเภสัชกรรม บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ที่ได้ร่วมมือกัน ค้นคว้า วิจัย พัฒนา วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม
ด้านนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19 vaccine) เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างเร็วที่สุด ครั้งนี้เป็นการผลิตวัคซีนโดยคนไทยเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง โดยใช้ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน โดยได้ร่วมมือจากบริษัทวิจัยในประเทศไทย คือ บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม เป็นผู้ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา ผลิตวัคซีนตั้งต้น บริษัท คินเจน ไบโอเทค เป็นผู้ทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ และองค์การเภสัชกรรมจะทำหน้าที่ตั้งตำรับและบรรจุวัคซีนสำเร็จรูป สำหรับการทดสอบทางคลินิกเฟส 1-2 ในมนุษย์
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้มีบทบาทในการพัฒนาและจัดหาวัคซีน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การวิจัยและพัฒนาจากต้นน้ำ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากไข่ไก่ฟัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง และจะศึกษาประสิทธิภาพในมนุษย์ต่อไป 2) โครงการนำเข้าวัคซีนมาแบ่งบรรจุ โดยได้ร่วมมือกับบริษัท Sinopharm ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามความร่วมมือ และเตรียมความพร้อมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม 3)ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยในการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบป้องกันโรคโควิด 19 อาทิ วัคซีน Subunit จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีน Virus-like particle จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 4)ร่วมมือกับบริษัทวิจัยในประเทศไทย ในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด จากใบพืช ซึ่งได้ทำการลงนามความร่วมมือในวันนี้