ครม.รับทราบมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่ ตั้งเป้าลดลงไม่น้อยกว่า 5%

ข่าวทั่วไป Tuesday December 15, 2020 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ภายใต้ชื่อการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" โดยมีตัวชี้วัดคือ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง และจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุในระดับจังหวัดและอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง ลดลงไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง

โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหารในพื้นที่และภาคประชาสังคม รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

สำหรับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมี 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1. มาตรการด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ระดับส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ และอปท.

2.มาตรการด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม เช่น การสำรวจตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และดำเนินการให้มีความปลอดภัย ส่วนจุดตัดทางรถไฟ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ อปท.กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัย เช่น จัดทำป้ายให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นได้ชัดเจน

3.มาตรการด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ เช่น ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับจังหวัด กำกับ ควบคุม ดูแล รถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด, ให้กระทรวงคมนาคม จังหวัด และ กทม. ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกหยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคล หรือรถเช่าของผู้ประกอบการธุรกิจให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย

4.มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เช่น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น

5.มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การสั่งการและประสานงาน และการเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพและกู้ภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ