นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันร่างกฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. .... อยู่ในกระบวนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในเดือน มกราคม 2564 และจะเริ่มประกาศรับสมัครองค์กรผู้ใช้น้ำในต้นปี 2564 หลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว
โดยกฎกระทรวงดังกล่าว จัดทำขึ้นตามหมวดที่ 3 ว่าด้วยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่ระบุไว้ว่าการองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มี 3 ระดับ 1.ระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.ระดับลุ่มน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และ 3.ระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลซึ่งใช้น้ำบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน จดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิก
ทั้งนี้ กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ ระบุให้ผู้ใช้น้ำจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือระหว่างบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกร่วมกัน รวมตัวกันและจดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยต้องจัดทำเอกสาร หลักฐาน ยื่นต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะนายทะเบียน เพื่อพิจารณาออกหนังสือรับรองก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำภายใน 30 วัน โดยองค์กรผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งขึ้น นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งแล้ว ยังมีสิทธิในการเสนอแนะ ให้ข้อมูลหรือความเห็นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเอง และสามารถเสนอชื่อสมาชิกภายในองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อเป็นผู้แทนไปคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำในภาคส่วนขององค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ อีกทั้งยังมีสิทธิเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการลุ่มน้ำเข้ารับการคัดเลือกต่อไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ด้วย
"การก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ จะเป็นช่องทางให้กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันจากลุ่มน้ำเดียวกัน รวมตัวกันเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ออกเสียง เสนอแนะ แสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหาที่แท้จริงจากพื้นที่ นำเสนอโครงการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้โดยตรง หรือกระทั่งสิทธิในการร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาร่วมกัน กรณีเกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกันในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำยังสามารถแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมการระดับชาติ คือ กนช.ได้อีกด้วย องค์กรผู้ใช้น้ำ จึงจัดเป็นฟันเฟืองสำคัญในการมีส่วนช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น ในส่วนของรายละเอียดการรับสมัคร สทนช.จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป" เลขาธิการ สทนช. กล่าว