นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในทุกพื้นที่ที่คาดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงอาจเกิดการแพร่ระบาด รวมทั้งเพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง แรงงานต่างด้าวที่อยู่รวมกันในที่พักหรือโรงงาน ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง หรือกลุ่มที่มีโอกาสพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น บุคลากรหรือพนักงานต้อนรับประจำรถสาธารณะ อาชีพเสี่ยงอื่น ๆ หรือกลุ่มที่มีแนวโน้มพบปะผู้ป่วยสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาดนัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้า ชุมชนแออัด เป็นต้น
สำหรับที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้เร่งติดตามตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง ตั้งเป้าให้ได้ 10,300 ราย ภายใน 2 สัปดาห์ โดยนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานจำนวน 6 คัน และระดมบุคลากรทางการแพทย์จาก 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 เร่งตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวพร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ เพื่อจำกัดตีวงในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง และจะตรวจค้นหาอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งชุมชนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ขยายขีดความสามารถห้องปฏิบัติการในทุกจังหวัดและกทม. ให้พร้อมตรวจได้ทั่วถึง โดยความร่วมมือของ ภาครัฐ เอกชน และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมีความสามารถตรวจได้ 50,000 ตัวอย่าง/วัน รวมทั้งมีระบบการจับคู่ห้องปฏิบัติการกับโรงพยาบาลต้นสังกัด เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์กับกรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลที่ส่งตรวจ ทำให้การรับส่งเชื้อรวดเร็ว รายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา ได้ทำการตรวจปูพรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 200,000 ราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR เพื่อให้การวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว สามารถควบคุมโรค จำกัดวงการแพร่ระบาดได้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในระบบเฝ้าระวังในปัจจุบัน หากมีอาการสงสัยป่วยโรคโควิด 19 ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ ให้ สปสช. ผ่านกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการตรวจโควิด 19 ให้กับโรงพยาบาล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อสนับสนุนการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงยาก และเพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติงาน