นายพงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานครในวันนี้ว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในจังหวัดสมุทรสาครเพิ่มเป็น 20 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 รายที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค
"ผู้ติดเชื้อที่พบตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีประวัติเกี่ยวข้องกับ จ.สมุทรสาคร ดังนั้นการแพร่ระบาดจะมีที่มาที่ไปที่ชัดเจน แต่ถ้ามีเคสใด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมุทรสาคร จะแจ้งให้ทราบอีกที แต่ตอนนี้เราจะพยายามควบคุมการแพร่ระบาดให้จำกัดได้ แต่ถ้าตราบใดทุกเคสยังเกี่ยวข้องกับสมุทรสาคร ก็ยังง่ายต่อการควบคุมโรค" โฆษกกทม.ระบุ
พร้อมขอความร่วมมือประชาชนว่าตอนนี้อ ยู่ในช่วงเวลาตัดสินว่าจะควบคุมโรคได้หรือไม่ แต่ในภาพรวมเชื่อว่ายังคุมได้ถ้าไม่มีซูเปอร์สเปรดเดอร์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีประสบการณ์การแก้ปัญหากันมาแล้ว
สำหรับกรณีสถานบริการ, ตลาด และสนามมวย กทม.จะมีมาตรการด้านการควบคุมดังนี้
1. สถานบริการ กทม.จะมีมาตรการควบคุมสถานบริการ โดยยังให้สามารถเปิดบริการได้ตามเดิม เพียงแต่ห้ามมีคนเข้ามาใช้บริการอย่างแออัด โดยให้ปรับรูปแบบเป็นร้านอาหาร จะเป็นผับหรือบาร์ที่มีคนจำนวนมากเข้ามาแออัดกันแบบเดิมไม่ได้ 2. ตลาด กทม.ได้มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น จำกัดทางเข้าออก ตรวจสอบผู้ใช้บริการ กำหนดให้ผู้ค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย 3. สนามมวย ซึ่งได้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับ กทม. โดยประกาศว่าจะไม่จัดการแข่งขันชกมวยจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ส่วนอีก 3 สถานที่ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมักพบว่ามีแรงงานต่างด้าวมารวมตัวกัน คือ สวนสาธารณะ ตลาด ศาสนสถาน จะยกระดับไม่ให้มีการรวมตัวกัน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ จะมีกระบวนการค้นหาในอีก 3 สถานที่หลัก คือ 1.ตลาด 400 กว่าแห่งทั่วกทม. ได้มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR (ตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูก) ไปแล้วกว่า 100 แห่ง แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะมีการปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อทางน้ำลายในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ หากเจอเคสที่เป็นบวกค่อยมาตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเท่าเดิมแต่ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
2.ไซต์ก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้ตรวจไป 17,000 ตัวอย่างก่อนที่จะมีการระบาดรอบนี้ และไม่พบเชื้อ แต่จะต้องตรวจใหม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และ 3.โรงงานในเขตใกล้เคียง จ.สมุทรสาคร เช่น เขตบางบอน บางขุนเทียน จะมีการตรวจหาเชื้อในเชิงรุก และพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ซึ่ง ศบค.ได้แถลงไปแล้วในช่วงเช้า
ขณะเดียวกัน กทม.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ไม่จัดกิจกรรมปีใหม่ในช่วงนี้ แต่หากยืนยันจะจัด และมีคนร่วมงานเกินกว่า 300 คน ต้องมาขออนุญาตจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครก่อน ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการควบคุมโรคว่ามีความเข้มข้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะไม่อนุญาตให้จัด แต่หากการจัดเลี้ยงกันเองในครอบครัว ต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ กทม. ได้ประกาศให้โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม.หยุดการเรียนการสอนตั้งแต่วันพรุ่งนี้จนถึงวันที่ 3 ม.ค. 63 "หยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ หยุดการระบาดซ้ำ" ได้แก่ โรงเรียน 437 โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก 292 แห่ง พร้อมทั้งให้ข้าราชการ และลูกจ้าง กทม. ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ 24 ธ.ค.63-3 ม.ค. 64 ยกเว้นข้าราชการที่ต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน และขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐแห่งอื่นให้ทำงานที่บ้านด้วย
"หากเรามีกิจกรรมที่ใกล้ชิด หรือสัมผัสกันมากขึ้น หรือมีกิจกรรมที่ไม่ลดลง เช่น การไปสถานบันเทิง จะยิ่งทำให้มีโอกาสการระบาดรุนแรงมากขึ้นในกรุงเทพฯ ดังนั้นจะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะสามารถควบคุมโรคได้หรือไม่ กทม.จึงขอความร่วมมือจากประชาชนอีกครั้ง...หยุดช่วง 12 วันนี้ ไปเจอผู้อื่นในช่วงนี้ให้น้อยลง เราคิดว่าจะสามารถควบคุมโรคได้อีกครั้ง
ขณะที่มีรายงานในสื่อโซเชียลมีเดียว่า พนักงานของร้านอาหารเกาหลี palsaik ย่านสยามสแควร์ติดเชื้อโควิด-19 ขณะหยุดลาพักร้อน และได้ไปจังหวัดสมุทรสาครในวันที่ 13 ธ.ค.ก่อนจะกลับมา กทม. โดยได้เข้ามาที่ร้านในวันที่ 19 ธ.ค.เวลา 12.30 -20.00 โดยเนื่องจากยังเป็นวันหยุดพักร้อนจึงไม่ได้ทำงาน เพียงแต่พบกับเพื่อนๆในร้านและออกไปพักเบรกร่วมกันกับเพื่อน 2 คน โดยใส่หน้ากากตลอดและล้างมือบ่อยมาก จากนั้นได้เข้าตรวจหาเชื้อรอบแรกในวันที่ 21 ธ.ค.รู้ผลเป็นบวกในวันที่ 22 ธ.ค.ซึ่งไม่แสดงอาการ
นอกจากนั้นยังมีพนักงานร้าน Lamptitude สาขาเอกมัยตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 22 ธ.ค.หลังจากเดินทางไปเข้าพักที่โรงแรมอันดามัน ลันตา รีสอร์ท จ.กระบี่ ช่วงวันที่ 11-12 ธ.ค. โดยร้านได้ปิดทำการ 14 วัน และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค พร้อมประสานให้ลูกค้าที่ติดต่อสัมผัสกับพนักงานคนดังกล่าวให้กักตัวเพื่อรอดูอาการ