ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 110 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 64 ราย แรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 30 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่เข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Quarantine Facilities) 16 ราย ประกอบด้วย เมียนมา 2 ราย, รัสเซีย 4 ราย, อินเดีย 1 ราย, ซาอุดิอาระเบีย 1 ราย, ตุรกี 1 ราย, สหราชอาณาจักร 1 ราย, โมซัมบิก 1 ราย, สหรัฐอเมริกา 3 ราย, เยอรมนี 1 ราย และ ฝรั่งเศส 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 6,020 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 4,061 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 1,338 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,959 ราย
ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วอีก 15 ราย รวมเป็น 4,152 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,808 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมรวม 80,207,155 ราย เสียชีวิตแล้ว 1,757,394 ราย โดยสหรัฐมีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 19,210,166 ราย เสียชีวิตแล้ว 338,263 ราย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 144
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้มี 60 รายที่มีความเชื่อมโยงกับจังหวัดสมุทรสาคร สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า 3 ราย และรอสอบสวน 1 ราย
โดยมีจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 33 จังหวัด ประกอบด้วย 1.สมุทรสาคร 2.กรุงเทพฯ 3.นครปฐม 4.สมุทรปราการ 5.ฉะเชิงเทรา 6.ปทุมธานี 7.สระบุรี 8.อุตรดิตถ์ 9.เพชรบุรี 10.เพชรบูรณ์ 11.กระบี่ 12.กำแพงเพชร 13.ขอนแก่น 14.พระนครศรีอยุธยา 15.นครราชสีมา 16.ปราจีนบุรี 17.ภูเก็ต 18.สุพรรณบุรี 19.สมุทรสงคราม 20.ชัยนาท 21.พิจิตร 22.อ่างทอง 23.อุดรธานี 24.ชัยภูมิ 25.นครสวรรค์ 26.นครศรีธรรมราช 27.สุราษฎร์ธานี 28.ราชบุรี 29.ชลบุรี 30.เลย 31.อุบลราชธานี และ 32.สงขลา ส่วนที่มีสื่อรายงานมากกว่านี้ยังไม่มีการรายงานเข้ามาที่ ศบค.และจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่จะมีผลต่อมาตรการที่แต่ละพื้นที่จะนำมาใช้ดูแล
วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งเพิ่มโครงสร้าง ศบค.โดยเพิ่มศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งการทำงานของ ศบค.นั้นจะกำหนดแนวทางในภาพรวม ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ส่วนข้อกำหนดห้ามการชุมนุมทั่วประเทศนั้น เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายโรค
ส่วนกรณีการตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญที่มีผู้บริหารประเทศทำงานอยู่จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งการตรวจด้วยวิธี RTCPR มีค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ยราว 2 พันบาท/ราย และจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ในขั้นตอนแรกจึงใช้วิธีเจาะเลือดดูภูมิคุ้มกัน (rapid test) เมื่อพบผลเป็น Positive ก็ตรวจด้วยวิธี RTCPR ซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยัน ซึ่งผลออกมาเป็น Negative
โฆษก ศบค.ยืนยันว่า การใส่หน้ากากผ้าสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ มีความปลอดภัย และให้ความรู้สึกสบาย อย่าไปเชื่อข่าวปลอมว่าใช้ไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่ได้ใส่