ศบค.จับตา 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่หากการ์ดตกจ่อเพิ่มมาตรการเข้มข้น

ข่าวทั่วไป Tuesday December 29, 2020 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.กล่าวว่า ศบค.จะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งถือเป็น 7 วันอันตราย หากพบว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็อาจจะต้องพิจารณายกระดับมาตรการที่เข้นข้นขึ้น

"เราขอเวลาในช่วง 7 วันข้างหน้านี้ ให้ประชาชนดำเนินการตามประเด็นที่เน้นย้ำไว้ทุกอย่างอย่างเข้มข้นที่ทางจังหวัดได้ออกมา...หากข้อแม้ที่ว่านี้ จำนวนการติดเชื้อควบคุมได้ อยู่ในขีดความสามารถที่มีทรัพยากรรองรับ ภาครัฐ เอกชน ประชาชนร่วมมือกัน เราจะยังใช้ 4 พื้นที่ตามเดิม แต่ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือ เอกชนย่อหย่อน เราจะทบทวนมาตรการทั้งหมดอีกครั้ง แต่ถ้าร่วมมือดี เราจะไม่เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดพื้นที่ แล้วทุกคนก็จะมีอิสระเสรีตามระดับพื้นที่ที่ถูกกำหนดขึ้นมา" นพ.ทวีศิลป์ระบุ

สำหรับการจัดกิจกรรมหรือการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ การจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่คงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามประกาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีประกาศล่าสุด ฉบับที่ 14 เรื่องการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ซึ่งในระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.63 - 4 ม.ค.64 คนกรุงเทพฯ จะต้องปรับตัวกับมาตรการที่ออกมาในประกาศนี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ต้องพิจารณาตามประกาศของแต่ละจังหวัดที่จะออกมาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด

"45 จังหวัดที่ประกาศออกมาแล้วว่าพบผู้ติดเชื้อ ขอให้ทุกท่านต้องเข้มงวด ปีใหม่นี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตอนนี้อัตราการติดเชื้อ 2 หลัก 3 หลัก ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากขึ้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อยากให้สื่อสารว่าเราต้องช่วยกันมากขึ้น แต่จะไม่ให้กระทบมากกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ถึงกับล็อกดาวน์ ยกเว้นบางพื้นที่ที่ประกาศเป็นสีแดง เช่น สมุทรสาคร ขอความร่วมมือจากท่าน เลี้ยงฉลองอยู่ที่บ้านดีที่สุด" โฆษก ศบค.ระบุ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทดลองทำฉากทัศน์การระบาดระลอกใหม่ในประเทศขึ้น แบ่งเป็น 3 กรณี โดยกรณีที่ 1 หากไม่มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมดูแลเลย คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 18,000 ราย/วัน ในช่วงกลางเดือน ม.ค.64 ส่วนกรณีที่ 2 หากมีมาตรการดูแลในระดับกลางๆ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,000 ราย/วัน ในช่วงสิ้นเดือนม.ค.64 และกรณีที่ 3 หากมีมาตรการดูแลในระดับเข้มข้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1,000 ราย/วัน ในช่วงสิ้นเดือนม.ค.64 ซึ่งหากในปัจจุบันมีการทำความเข้าใจและทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่เห็นตัวเลขในลักษณะเช่นนั้น

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงและวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดในประเทศ โดยเห็นว่าการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการติดเชื้อมาจาก 2 ลักษณะ คือ 1.การติดเชื้อจากบุคคลสู่บุคคล ซึ่งมีทั้งกรณีที่ทราบว่าตนเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือกิจกรรมที่เสี่ยง และอีกส่วนที่ไม่ระมัดระวัง หรือไม่ทราบว่าได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ 2.การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน ซึ่งมีสาเหตุจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการถูกต้อง เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ การประชุม หรือกิจกรรมที่ลักลอบดำเนินการ เช่น การพนัน การมั่วสุม

อย่างไรก็ดี จากที่ ศบค.ชุดใหญ่ ได้ออกแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกำหนดไว้เป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด 2.พื้นที่ควบคุม 3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง และ 4.พื้นที่เฝ้าระวังนั้น ล่าสุด ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รับผิดชอบกำหนดระดับสถานการณ์ ลงรายละเอียดในระดับตำบล รืออำเภอ เพื่อจะได้มีมาตรการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากที่สุด โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ ก่อนประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ

"เรายังใช้มาตรการเดิมที่ ผอ.ศบค. (นายกรัฐมนตรี) ประกาศไว้คือ 4 พื้นที่เสี่ยง แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดวันนี้ คือ รมว.มหาดไทย ได้ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ให้แบ่งส่วนพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ ภายในวันพรุ่งนี้ต้องประกาศออกมา ให้เห็นในระดับอำเภอ และตำบลให้ได้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีความอิสระในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับระดับความรุนแรงของการระบาดในพื้นที่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ขอให้มีกลไกการเฝ้าระวังในระดับตำบล โดยใช้กลไกทางการปกครองและกลไกสาธารณสุข (อสม. และอสส.) ในลักษณะโครงข่ายเฝ้าระวังรังผึ้ง รวมถึงการจัดกำลังชุดตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพื่อให้มีการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค.กำหนด โดยเน้นความเข้มข้นตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ที่ประชุมฯ ยังเน้นย้ำสำหรับทุกพื้นที่สถานการณ์ด้วยว่า ในกรณีที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นเป็นระยะเวลา 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติขอให้ไปพบแพทย์ และต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์ หลังจากนี้ประมาณ 7 วัน จะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ก็จะพิจารณาขออนุมัติจาก ศบค.เพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ