นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศขณะนี้ ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ 53 จังหวัด แม้จะไม่มีจำนวนจังหวัดเพิ่มเติมในวันนี้ แต่หากพิจารณาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนธ.ค.63 จากระดับ 6 จังหวัด เพิ่มเป็น 53 จังหวัด ในขณะนี้ นับเป็นมีจำนวนจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าภายในเวลาไม่มากนัก ดังนั้น หลังจากนี้จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด โดยเตรียมนำเสนอมาตรการต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ ก็เตรียมที่จะประกาศใช้สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.64 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 ก.พ.64 เวลา 06.00 น.
ทั้งนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข และ ที่ประชุมศบค.เช้านี้มีข้อสรุปว่า การคัดกรองแรงงานต่างด้าวยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามองคือกลุ่มก้อนในกรุงเทพฯ ที่เริ่มกระจายในหลายพื้นที่และมีผู้เสียชีวิตโดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายเพิ่มอีกหลายเท่าตัว และไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมโรค และมาตรการทางสังคมอย่างเข้มข้น และรวดเร็วจึงมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ขณะเดียวกันที่ประชุมศบค. ได้นำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ พบว่า
1.จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายไปตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีรูปแบบการแพร่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น ดังนี้ ผู้ติดเชื้อหลายคนทราบดีว่าตนเองได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักกันตัวเอง หรือไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือไม่เข้าไปปรึกษาแพทย์ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการพนัน ซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไป รวมถึงยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วย
2.จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล มีจำนวนมากขึ้น และจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการป้องกันภาพรวม
3.ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาด และให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันเป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ศบค.ขอความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการดำเนินมาตรการป้องกันภาพรวม
"จากสถานการณ์ดังกล่าว ถ้าเราใช้มาตรการที่มีอยู่ซึ่งเป็นมาตรการที่ตามกันไปก็คงยาก เราต้องปรับมาตรการขึ้นมา วันนี้คุยกันทั้งใน EOC กระทรวงสาธารณสุข มาตรการต้องนำการติดเชื้อ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามปกติ แล้วเราวิ่งไล่ตาม ไล่แก้ หาจำนวนเตียงมารอผู้ป่วยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องลดจำนวนผู้ป่วย มาตรการจะต้องเข้มข้นขึ้น จังหวัดที่เป็นสีแดงก็ต้องเข้มในการดูแล จังหวัดที่ยังไม่ได้เป็นสีแดง เป็นสีส้มก็ต้องเข้มด้วย รวมถึงตามแนวชายแดน"
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.และ EOC ในวันนี้มีความเห็นตรงกัน ซึ่งจะต้องนำความเห็นเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เพื่อให้เกิดมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความเข้มข้นสูง โดยได้กำหนดแผนที่ที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ประกอบด้วย พื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ประกอบด้วย 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก ,นนทุบรี , ปทุมธานี , พระนครศรีอยุธยา , สระบุรี , ลพบุรี , สิงห์บุรี , อ่างทอง , นครนายก , กาญจนบุรี , นครปฐม ,ราชบุรี , สุพรรณบุรี , ประจวบคีรีขันธ์ ,เพชรบุรี , สมุทรสงคราม , สมุทรสาคร , ฉะเชิงเทรา , ปราจีนบุรี ,สระแก้ว , สมุทรปราการ , จันทบุรี , ชลบุรี ,ตราด ,ระยอง , ชุมพร ,ระนอง และกรุงเทพฯ
พื้นที่ควบคุม ซึ่งเป็นพื้นที่สีส้ม จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย , กำแพงเพชร ,นครสวรรค์ , อุทัยธานี ,ชัยนาท , เพชรบูรณ์ , ชัยภูมิ , บุรีรัมย์ , นครราชสีมา , สุราษฎร์ธานี และพังงา , พื้นที่เฝ้าระวังสูง ซึ่งเป็นพื้นที่สีเหลือง มีทั้งสิ้น 38 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่เหลือของประเทศ และพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว ที่ปัจจุบันไม่มีจังหวัดใดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
"เราได้เรียนรู้จากการใช้ยาแรงตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว เราใช้ยาแรงและเราก็เจ็บปวดกันมาก ช็อกกันช่วงแรก ๆ แต่เราเอาอยู่ในช่วงเวลามีนา เมษา พฤษภา ประมาณเกือบ 3 เดือน ครั้งนี้เราเรียนรู้ว่าการล็อกดาวน์คำพูดนี้เจ็บปวดหัวในเหลือเกิน ไม่อยากจะได้ยิน แต่ต้องมีผู้เสียสละ คือพื้นที่ที่เป็นสีแดง เราก็ไม่อยากให้ล็อกดาวน์ แต่เป็นการเข้มงวดมาก ๆ ควบคุมสูงสุดมาก ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นตรงนี้"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมในวันนี้ เห็นควรให้ออกมาตรการที่กำหนดให้ดำเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้
1. ขั้นที่ 1 จำกัดการเปิด-ปิดสถานประกอบการ , ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ค้นหา และจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย ,หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ,ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด ,สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอน หรือใช้รูปแบบออนไลน์ , ให้มีการทำงานแบบ Work from Home ทั่วทั้งพื้นที่ ศบค.กำหนด ,มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ,เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของสาธารณสุข
สำหรับการดำเนินการจะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.64 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 ก.พ.64 เวลา 06.00 น.
2. ขั้นที่ 2 จำกัดเวลาเปิด-ปิด สถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจำกัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย) ,ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ,เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย , งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ,เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด , สถานศึกษายังคงหยุดการเรียนการสอน เว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็น , เร่งรัดและเพิ่มการทำงานแบบ Work from Home อย่างเต็มขีดความสามารถ ,เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่เสี่ยง ,กิจกรรม/กิจการที่เสี่ยง ,กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง ,จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถาน ในพื้นที่ที่ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) จังหวัดกำหนด
สำหรับห้วงเวลาดำเนินการ จะเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค. เห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯ ในกรอบเงื่อนไขที่ศบค.กำหนด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรอบข้อกำหนดที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดมาตรการควบคุม ในขั้นที่ 1. ซึ่งเป็นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 5 ,6 รวมถึงคำสั่งศบค.ที่ 2/2563 และ 3/2563 (ฉบับที่ 1) เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ส่วนมาตรการควบคุมในขั้นที่ 2 เป็นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1,2 และ 3
"ข้อสรุปของทั้งสองที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันแล้ว นำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.พิจารณา ถ้าท่านเห็นชอบก็ลงนามประกาศ แต่อาจจะต้องให้มีช่วงเวลา เราเชื่อว่าร้านอาหารต่าง ๆ ที่บอกว่าต้อง take away เช้านี้เลขาสมช.ก็เป็นห่วงกังวล ตอนนี้ก็สั่งให้ผมมาบอกข่าวตรงนี้ก่อน ยังไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ ทุกอย่างจะมีการพูดและมีช่วงเวลาเตรียมตัว วันที่ 4 มกราคมเปิดทำการขึ้นมาเราจะเริ่มใช้ตรงนี้ มีช่วงเวลาให้มีการเตรียมตัว ไม่ต้องไปถึงขนาดกักตุนอะไร มาตรการเราเข้มขึ้นไปกว่าสถานการณ์ของโควิด แต่เราทำขึ้นมาเพื่อคุมคนที่ไม่ร่วมมือกับเรามากที่สุด ฉบับที่ 5 และ 6 ที่เคยนำมาใช้จะมาถูกใช้เป็นฉบับที่ 16 ต่อไป ถ้านายกฯเห็นชอบก็จะมีมาตรการข้อกำหนดฉบับที่ 16 ออกมา...28 วันเราหวังผลของการลดโรคตรงนี้ลงไปได้
แต่ถ้าตัวเลขยังไม่ได้ลดลง และมีข้อแม้ที่แปรเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการไม่ร่วมมือ ติดเชื้อสูงขึ้น หรือทรัพยากรไม่พอก็แล้วแต่ที่จะเกิดขึ้นมา ขั้นที่ 2 คือ จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการมากขึ้น ทั้งการจำกัดการเปิดบริการบางประเภทด้วย อันนี้จะกระทบ ตอนนี้แค่สถานบริการ สถานบันเทิงที่ออกไป แต่ต่อไปก็จะเหมือนในช่วงที่ล็อกดาวน์ แต่เราจะไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์...ถ้าเราช่วยกัน ก็ยังมีอิสระที่จะทำกิจกรรม กิจการต่าง ๆ ได้ทั้งหมด แต่ต่อไปถ้าไม่ได้เราก็จะตั้งด่านเต็มเหมือนกับภาพเดิม เพียงแต่ประกาศเคอร์ฟิว ไม่ประกาศเคอร์ฟิวเท่านั้น แต่คิดว่าคงไม่ประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลาข้างหน้าเพื่อทุกอย่างจะได้ดำเนินไป การจำกัดเวลาออกนอกเคหะสถาน ตรงนี้คุยกันมาก ถ้ากลับไปใช้ประกาศฉบับที่ 1,2 ,3 ต้องมีตรงนี้เกิดขึ้น ต่อไปตรงนี้เป็นพื้นที่ของศบค.จังหวัดเป็นคนกำหนด ถ้าคนที่จังหวัดติดเชื้อสูงมาก ๆ ก็อาจจะล็อกดาวน์เฉพาะบางจังหวัดเป็นไปได้ เราต้องมีความยืดหยุ่นในแต่ละพื้นที่"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามมาตรการควบคุมขั้นที่ 1 ที่จะใช้ดูแลพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง จะมีการจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ และปิดสถานบริการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ เช่น พบมีการระบาดในสถานบันเทิง ร้านอาหาร ที่มีคนรวมกันไม่ใส่หน้ากากอนามัย เพราะต้องรับประทานอาหาร ก็จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา เช่น ร้านอาหารทุกร้าน สถานบันเทิง ไม่ให้มีการให้บริการในร้าน แต่จะให้เพียงการซื้อเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้าน รวมถึงขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด โดยยังสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้แต่จะต้องมีการตรวจตรา และเป็นการเดินทางที่จำเป็นเท่านั้น เช่น บุคลากรทางสาธารณสุขที่ทำงานและมีบ้านพักอาศัยอยู่คนละจังหวัด แต่ที่ไม่จำเป็นจะไม่ได้รับอนุญาตเดินทางข้ามจังหวัด , สถานศึกษาหยุดเรียน การเรียนการสอนให้ใช้รูปแบบออนไลน์ ให้มีการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ทั้งนี้ จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 สัปดาห์ หรือ 2 เท่าของระยะเวลาฟักตัวของโรคซึ่งเชื่อว่าน่าจะควบคุมโรคได้ ซึ่งหากผู้อำนวยการศบค.เห็นชอบ ก็จะมีการกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.-1 ก.พ.64
ส่วนพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม จำนวน 11 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่กันชน ก็จะมีมาตรการที่คล้ายคลึงกัน โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะปรับสถานการณ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง โดยอาจจะใช้พื้นที่อำเภอที่มีอำเภอติดกับพื้นที่สีแดง ใช้มาตรการเหมือนพื้นที่สีแดงหรือไม่ก็ได้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกัน
ส่วนพื้นที่ที่เหลือ คือพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด หรือพื้นที่สีเหลือง ก็จะมีมาตรการลดหลั่นกันไป แต่โดยพื้นฐานจะมีการเฝ้าระวังพื้นที่อย่างสูงสุดและขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด แต่กิจกรรมในจังหวัดสามารถดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวว่า หลังจากนี้ก็คาดว่าจะมีการออกเป็นประกาศต่าง ๆ ต่อไป โดยยังคงเน้นย้ำเรื่องมาตรการการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การคัดกรอง และการสแกนไทยชนะ ที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อไป