ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเพิ่มเติม 3 ด้าน คือ
1) เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเต็มขีดความสามารถ หรือ DMHTT ได้แก่ เว้นระยะระหว่างกัน สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ
2) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความตระหนักแก่ประชาชนให้ความร่วมมือหากทราบว่าตนเองได้เคยเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อหรือ "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นเป็นเวลา 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านและให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์
3) ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่กวดขันไม่ให้มีบ่อนการพนันในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ โดยเคร่งครัด โดยให้ผวจ. และนายอำเภอ เข้มงวดกวดขันและประสานการปฏิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมในการหาข่าว/เบาะแสกรณีดังกล่าวด้วย
สำหรับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กำหนดให้เป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" ให้ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
1) ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ ผวจ.ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อโดยความเห็นชอบของ คกก.โรคติดต่อจังหวัดพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นใดที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
2) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ ผวจ.เสนอ คกก.โรคติดต่อจังหวัดกำหนดมาตรการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ จัดให้มีระบบบันทึกผู้ใช้บริการโดยใช้แอปพลิเคชันไทยชนะหรือจดบันทึกข้อมูลให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ในกรณี คกก.โรคติดต่อจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดเวลาห้ามนั่งบริโภคในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้กำหนดห้ามนั่งบริโภคในร้านระหว่างเวลา 21.00 - 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยให้เป็นลักษณะของการจำหน่ายแล้วนำกลับไปบริโภคที่อื่น
3) การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้ดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ โดย ผวจ. ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) บูรณาการและประสานการปฏิบัติ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ ตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักพื้นที่รอยต่อระหว่าง "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" กับ "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" และพื้นที่รอยต่อระหว่าง "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" กับ "พื้นที่ควบคุม"
หากพบบุคคลที่มีความเสี่ยงหรือเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้บันทึกข้อมูลเพื่อสามารถสืบค้นได้ และดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการกับทุกภาคส่วน จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางรองในตำบล หมู่บ้าน และชุมชน ให้ประสานสอดคล้องกับการจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางหลัก
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด และขอความร่วมมืองดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือเป็นกรณีการขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
นอกจากนี้ ในกรณีจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและมีแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ให้จังหวัดประชุม คกก.โรคติดต่อจังหวัดเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการบริหารจัดการ โดยให้พิจารณาความเหมาะสมของสถานที่และชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย และ ให้ ผวจ. ประสานกับผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ แสวงหาความร่วมมือการปฏิบัติการดูแลผู้ใช้แรงงานร่วมกับการปฏิบัติการของภาคราชการ