สธ.วางเป้าสำรองรพ.สนาม อย่างน้อย 1 พันเตียงแต่ละเขตสุขภาพรองรับโควิดระบาด

ข่าวทั่วไป Friday January 8, 2021 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความสามารถในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า ขณะนี้ทั้ง รพ.หลัก และ รพ.สนาม ยังมีจำนวนเตียงเพียงพอต่อการรับรักษาผู้ป่วยโควิด ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง-รุนแรง ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.หลัก และผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยมาก-ไม่มีอาการ ที่ต้องเข้ารับการดูแลใน รพ.สนาม

ปัจจุบันการจัดตั้ง รพ.สนาม ยังอยู่ในพื้นที่ของ จ.สมุทรสาคร และอีก 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเป็นหลัก คือ ชลบุรี, ระยอง และจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุด รพ.สนาม ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีจำนวน 872 เตียง ส่วน 3 จังหวัดภาคตะวันออก มีรวมกัน 444 เตียง รวมทั้งหมด 1,316 เตียง โดยมีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเข้าไปใช้บริการแล้ว 686 เตียง

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายให้ในเขตสุขภาพที่มีการแพร่ระบาดของโควิดจำนวนมาก จะต้องมีการสำรองเตียงใน รพ.สนาม ไว้อย่างน้อย 1,000 เตียงในแต่ละเขตสุขภาพ

"ในภาพรวมแล้ว รพ.สนาม ยังมีเตียงเพียงพอ แต่เราต้องเตรียมไว้อยู่ตลอด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด" รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง รพ.สนาม เพื่อจัดตั้งระบบบริการการดูแลรักษาพยาบาลสำหรับผู้ปวยยืนยันโรคโควิด-19 ที่มีเป็นจำนวนมากจนเกินขีดความสามารถของ รพ.หลัก ในการรองรับผู้ป่วย ซึ่ง รพ.สนาม สามารถรับผู้ป่วยโควิดไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน และให้การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้น ก็สามารถส่งตัวไปยัง รพ.หลัก ในภาวะเฉียบพลันหรือวิกฤตได้

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า ในการจัดตั้ง รพ.สนาม ขึ้นในแต่พื้นที่นั้น ต้องมีการคำนึงถึงหลายปัจจัยประกอบกัน โดยเฉพาะความพร้อมของสถานที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการคัดกรอง และการลงทะเบียนผู้เข้าพักในพื้นที่สังเกตอาการ, ระบบการสื่อสาร, ระบบการดูแลความปลอดภัย, ระบบจัดการบำบัดน้ำเสีย ระบบจัดการขยะ และระบบการซักล้างที่ปลอดเชื้อ

"จากที่มีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ก็จะมีโอกาสเจอเคสใหม่ๆ ในชุมชนมากขึ้น ยิ่งเจอมากขึ้น ก็ต้องรีบนำมาดูแลโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นคนติดเชื้อจะแพร่เชื้อต่อไปในชุมชน ถ้ายิ่งค้นหามาก แล้วไม่นำมากักตัว ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร คนเหล่านั้นจะแพร่เชื้อไปในชุมชน แล้วเราก็ติดเชื้อในที่สุด และจะเกิดการติดเชื้อในวงกว้าง ทำให้ควบคุมโรคไม่ได้ ดังนั้นในเวลานี้ ยังจำเป็นต้องหา รพ.สนาม เตรียมไว้ตลอด ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือจากคนในชุมชนด้วย" รองอธิบดีกรมการแพทย์ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ