สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ส่งตัวแรงงานข้ามชาติ จำนวน 180 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร กลับคืนสู่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร
โดยก่อนที่ทุกคนจะขนของขึ้นรถนั้นก็ได้มีการมอบหนังสือรับรองผ่านการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด 19 จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครให้ด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติที่กักตัวอยู่ภายในศูนย์หลังจากครบกำหนดระยะเวลา 10-14 วัน แล้วตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 ทั้งหมดเป็นผู้ปลอดเชื้อ ปลอดภัย ปลอดโรค
อนึ่ง ก่อนหน้านั้น วานนี้จังหวัดสมุทรสาครส่งตัวแรงงานข้ามชาติกลับไปแล้ว 292 คน รวมทั้ง 2 วัน คือ วันที่ 10 และ 11 ม.ค.64 มีแรงงานข้ามชาติที่ได้กลับคืนสู่ตลาดกลางกุ้งแล้วจำนวน 472 คน
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดสมุทรสาครมีจำนวน 3,341 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 750 ราย รักษาหายแล้ว 387 ราย คงเหลือ 362 ราย ขณะที่มีผู้ที่ออกจากระบบการรักษาและกักตัวไปแล้ว 1,173 ราย และอยู่ระหว่างรอครบระยะเวลากักตัวอีก 811 ราย
เฉพาะกรณีของตลาดกลางกุ้ง ขณะนี้ได้ส่งตัวแรงงานต่างด้าวกลับไปใช้ชีวิตตามปกติแล้ว 472 คนจากโรงพยาบาลสนาม ศูนย์แห่งที่ 1 ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารรถแพร่เชื้อได้อีกแล้วและไม่พบว่ามีอาการป่วยตลอระยะเวลาที่กักตัว จึงคาดว่าตลาดกลางกุ้งจะเปิดให้บริการได้ตามปกติในเร็ววันนี้
ขณะนี้ความพร้อมของโรงพยาบาลสนามในจังหวัดสมุทรสาคร 8-10 แห่งที่กำลังดำเนินการอยู่และเตรียมจะสร้างเชื่อว่าจะสามารถรองรับการรักษาได้มากกว่า 3 พันกว่าเตียงภายในสิ้นเดือนนี้
ด้านนายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เจอเป็นคนวัยแรงงาน มีอาการป่วยรุนแรงน้อยมาก เสียชีวิต 1 รายเท่านั้น และจากการค้นหาในชุมชนทุกวันนี้พบอัตราผู้ป่วยไม่เกิน 2% ซึ่งการค้นเชิงรุกทั้งจังหวัดกลุ่มหลักที่พบผู้ติดเชื้อยังกระจุกตัวอยู่จุดเดิม ไม่ได้กระจายออกไป โดยอยู่ในโรงงานและสถานประกอบการเป็นหลัก โดยมีผู้ที่กลับออกไปแล้วกว่า 60%
ขณะนี้ทางจังหวัดได้วางเป้าหมายปฏิบัติการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนให้ครอบคลุมทุกโรงงานกว่า 11,000 แห่งให้เรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ จัดกลุ่มโรงงานเป็น 3 ขนาด โดยโรงงานขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานเกิน 500 คน ซึ่งมีจำนวน 100 แห่ง ต้องสุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่าง 50 ราย/แห่ง , โรงงานขนาดกลางจำนวนพนักงาน 200-500 คน มีจำนวน 266 แห่งจะตรวจทั้ง 100% , โรงงานขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 200 คน จะสุ่มตรวจแห่งละ 100 คน รวมทั้งตลาดสดอีก 15 แห่งและชุมชน 100 แห่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะสุ่มตรวจ 50 คน/แห่ง
ทั้งนี้ จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องตรวจหาเชื้อเชิงรุกมีจำนวนรวม 3 หมื่นราย ตรวจไปแล้ว 109 แห่ง หรือจำนวนกว่า 9 พันคน เหลืออีก 20,000 คนทำที่จะต้องทำให้ครบภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ค้นหาการติดเชื้อในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ถ้าไม่มีก็จะมีมาตรการสอบสวนควบคุมโรคเฉพาะราย
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งสมมติฐานตามมาตรฐานการควบคุมโรคที่จะต้องค้นหาผู้ปวย โดยตามทฤษฎีคาดว่าผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถถ่ายทอดเชื้อได้ 1 คน ดังนั้น ยอดผู้ติดเชื้อ 1 สัปดาห์ที่มีประมาณ 2 พันรายประเมินว่าจะพบใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าอีกราว 2 พันราย และอีกกลุ่มคือผู้สัมผัสเสียงสูง ตามทฤษฎีผู้ติดเชื้อ 1 คนจะมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 คน ประเมินตัวเลขเบื้องต้นราว 2.2 หมื่นคนที่ต้องติดตาม จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาดำเนินการติดตามภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าเมื่อดำเนินการได้ตามแผนจะสามารควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในสิ้นเดือนนี้