ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 369 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 82 ราย ในจังหวัดเลย 1 ราย กทม. 13 ราย ตรัง 1 ราย นนทบุรี 2 ราย ปทุมธานี 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย สมุทรสาคร 51 ราย อ่างทอง 8 ราย สมุทรปราการ 2 ราย ชลบุรี 1 ราย ระยอง 1 ราย, จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 275 ราย ในกทม. 5 ราย สมุทรสาคร 269 ราย ชลบุรี 1 ราย
ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 12 ราย ประกอบด้วย โอมาน 1 ราย, สหราชอาณาจักร 1 ราย, ฝรั่งเศส 1 ราย, สหรัฐอเมริกา 2 ราย, เยอรมนี 1 ราย, มาเลเซีย 5 ราย และบาห์เรน 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 12,423 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,152 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 3,982 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,289 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 9,206 ราย เพิ่มขึ้น 191 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 70 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า หากโฟกัสเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหมที่เพิ่มขึ้นวันละ 200-300 รายอาจจะเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่อยากให้พิจารณาข้อมูลตัวเลขทั้งในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ามารับการตรวจรักษาใน รพ. ควบคู่กับการออกไปค้นหาเชิงรุกในชุมชน ซึ่งตัวเลขการออกไปค้นหาเชิงรุกในชุมชนยังอยู่ในระดับสูงกว่า สะท้อนว่าการค้นหาเชิงรุกยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น
"การที่เราเห็นเส้นกราฟตัวเลขคนที่ไป รพ.ยังมีตัวเลขไม่มาก แต่กราฟแท่ง(ตัวเลขการตรวจเชิงรุก) ตัวเลขยังมีเยอะกว่า หมายความว่าคนในชุมชน ผู้ที่อยู่ใกล้ตัวท่าน อาจเป็นเพื่อนบ้าน หรือในครอบครัวเอง คนเหล่านี้อาจจะไม่แสดงอาการ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อมีบุคคลากรเข้าไปสอบสวนโรค ขอให้ช่วยให้ความร่วมมือ เพื่อจะได้นำไปสู่การให้บริการอย่างเหมาะสม" พญ.อภิสมัยระบุ
ส่วนข้อมูลพื้นที่พบผู้ติดเชื้อยังคงที่ เท่ากับเมื่อวานนี้ที่ 61 จังหวัด และการจะเห็นตัวเลขการระบาดเป็นศูนย์ในขณะนี้คงยังเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยจะเริ่มเห็นเส้นกราฟที่ไม่ชันขึ้นเหมือนในช่วงที่ผ่านมา
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร ที่ยังสูงอยู่ว่า ไม่ต้องกังวลมาก เพราะตัวเลขส่วนใหญ่มาจากการลงพื้นที่เพื่อค้นหาเชิงรุก และส่วนใหญ่ยังเป็นการติดเชื้อจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมามากกว่าการติดเชื้อของคนไทย แต่การติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังน่าเป็นห่วงกว่า เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยยังมีความห่างหรือการกระจายตัวน้อยกว่าในต่างจังหวัด
"ที่อยากเน้นย้ำคือ ในต่างจังหวัดมีการกระจายตัว หรือลักษณะของบ้านที่อยู่อาศัยห่างๆ กัน แต่บ้านในกทม.ยังมีความน่าเป็นห่วงกว่า" พญ.อภิสมัยระบุ
อย่างไรก็ดี ใน จ.สมุทรสาคร ถือได้ว่ามีความร่วมมือกันอย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐในการออกมาตรการที่เข้มงวด การคัดกรองเชิงรุก ประกอบกับภาคเอกชนเองที่ร่วมกันจัดหางบประมาณสนับสนุนทั้งในเรื่องการจัดตั้งรพ.สนาม และการจัดตั้ง Factory Quarantine ในขณะที่ภาคประชาชนเอง ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือบุคลาการด้านสาธารณสุขด้วย
"ถ้ายังมีความพยายามที่ร่วมกันดูแลอย่างเข้มงวดอย่างนี้ เราอาจจะเห็นสมุทรสาคร กลับมาคึกคักในเร็ววัน อาจมีการเปิดตลาด หรือกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น" พญ.อภิสมัยกล่าว
พร้อมชี้ว่า นับเป็นตัวอย่างที่ดีว่าแต่ละจังหวัดมีการศึกษาปัญหาในพื้นที่ของตัวเองอย่างเข้มข้น โดยใช้ตัวเลขข้อมูลจริงเพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ โดย จ.สมุทรสาคร ยังได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ควบคู่กับการค้นหาเชิงรุก ซึ่งตัวเลขการค้นหาเชิงรุกในระดับสูงก็ไม่น่าตกใจ เพราะได้เตรียมรองรับในส่วนของ รพ.สนามไว้แล้ว เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกัน
ขณะที่จังหวัดที่ติดกับพื้นที่ชายแดนต่างๆ นั้น ภาครัฐคงไม่สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคให้เกิดประสิทธิภาพได้เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และประชาชนที่จะคอยเป็นหูเป็นตาในการรายงานหากพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือมีการลักลอบเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย
พร้อมย้ำว่า หากเป็นผู้ที่มีประวัติเสี่ยง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อโควิด และมีอาการในเบื้องต้น เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ และปฏิบัติตัวตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น
สำหรับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 95,479,062 ราย เสียชีวิต 2,039,601 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 24,482,050 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,572,672 ราย อันดับสาม บราซิล 8,488,099 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,568,209 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,395,959 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 128