นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และต้องทำความเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนนั้นเพื่อลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของอาการป่วย และลดการเสียชีวิต ขณะเดียวกันประชาชนทุกคนยังต้องดูแลสุขภาพตัวเองตามหลักชีวอนามันอย่างเคร่งครัดต่อไป โดยไม่วางใจแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
"ถึงแม้จะมีวัคซีนออกมาแล้ว แต่คนไทยทุกคนยังมีส่วนสำคัญในการยับยั้งโควิด-19 อย่าเพิ่งผ่อนตัวจนเร็วเกินไป วัคซีนที่นำเข้ามามีความปลอดภัยค่อนข้างเยอะ ขอให้มั่นใจต่อวัคซีนที่จะฉีด ยังต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่อยู่ในที่ชุมชน" นพ.ประสิทธิ์
ขณะนี้ถือว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินผลเกี่ยวกับวัคซีนหลังจากทั่วโลกนำมาใช้จริงได้เพียงแค่ 1 เดือน โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตของทั้งโลกยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง และมีจำนวนสูงกว่าการระบาดในรอบแรก อย่างสหรัฐที่เริ่มฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 ขณะนี้มีอัตราผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 3 แสนราย และอัตราการเสียชีวิตคงที่,
ส่วนสหราชอาณาจักรที่พบการกลายพันธุ์และเริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มสูงเช่นกัน, ฝรั่งเศสมีประชาชนต่อต้านฉีดวัคซีน ทำให้ต้องเลื่อนเป้าหมายที่จะฉีดให้ครบ 1 ล้านคนในเดือน ม.ค.64 ออกไปเป็นปลายเดือน ก.พ.64, ญี่ปุ่นเตรียมฉีดวัคซีนในต้นเดือน ก.พ.ขณะที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตสูงจนต้องปิดประเทศเนื่องจากเป็นสังคมผู้สูงวัย, เกาหลีใต้มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเตรียมฉีดวัคซีนในเดือน ก.พ.64
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประมาณ 95% ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกัน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค รุนแรงมากระดับภูมิคุ้มกันมาก และภูมิคุ้มกันจะอยู่ไม่น้อยกว่า 5 เดือนแต่ไม่คงอยู่นาน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ และยังไม่มีหลักฐานยืนยันเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ แค่คาดการณ์ว่าหากมีการติดเชื้อ 60-70% อาจเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะปลอดภัย เพราะในรอบสองนี้มีผู้เสียชีวิตที่มีอายุเพียง 30-40 ปี
"การฉีดวัคซีนจะทำให้คนไม่มีภูมิมีภูมิ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน การฉีดวัคซีนต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เพระเราหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส แต่ต้องไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน" นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสเข้าร่างกาย เพราะไวรัสจะเพิ่มจำนวนได้ต้องเข้าไปอยู่ในตัวคน หากเข้าไปไม่ได้ก็สลายตัว นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีการฉีดวัคซีน เพราะไม่รู้ว่าใครจะมีภูมิคุ้มกัน แต่จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนใดก็ต้องติดตามผล เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันและมีความเหมาะสมกับแต่ละคนแตกต่างกันไป เหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ 50% คนที่ฉีดแล้วมีโอกาสติดเชื้อแต่อาการป่วยไม่รุนแรง การพิจารณาใช้วัคซีนจึงต้องดูองค์ประกอบอื่น เช่น การเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำมาก หากไม่เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ก็ทำให้เสื่อมประสิทธิภาพ การฉีดเข้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์
"การเลือกใช้วัคซีนไม่จำเป็นต้องเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้ 100% แต่อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 50%" นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันมีการนำไปใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน 8 บริษัท เป็นวัคซีนที่ใช้ทั่วไป 2 บริษัท และยกเลิกการใช้ไป 1 บริษัท โดยมีรายงานการติดตามผลข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนของบริษัทต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบการฉีดวัคซีนนั้นแต่ละประเทศกำลังพิจารณาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น สหราชอาณาจักรจะปรับรูปแบบการฉีดวัคซีนจากเดิมที่ฉีดเข็มที่สองหลังจากฉีดเข็มแรกแล้ว 3 สัปดาห์ เป็นปูพรมฉีดให้ทั่วประเทศมากขึ้นแล้วขยายเวลาฉีดเข็มที่สองไปเป็นในอีก 12 สัปดาห์
สำหรับวัคซีนของบริษัท แอสตร้าฯ นั้นสหราชอาณาจักรและอาร์เจนติน่าประกาศรับรองการใช้แบบฉุกเฉินว่าฉีด 1 โดส มีประสิทธิภาพ 64.1% ฉีดครบสองโดสมีประสิทธิภาพ 70.4% แต่หากฉีดครึ่งโดสตามด้วย 1 โดสจะมีประสิทธิภาพมากถึง 90% ซึ่งบริษัท สยามไปโอไซส์ มีวัคซีนของแอสตร้าอยู่ในสายการผลิตแล้ว ส่วนวัคซีนอีกตัวที่ไทยจะนำมาใช้เป็นของบริษัท ไซโนแว็กเทคโนโลยี ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดิมที่นำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรงหรือตายก่อน ซึ่งทั่วโลกคุ้นเคย
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในมาเลเซียมีอัตราผู้ป่วยใหม่เพิ่มกว่าวันละ 3 พันคน เพราะอัตราการติดเชื้อสูง น่าเป็นห่วงกว่าเมียนมา เพราะจำนวนผู้ป่วยรายใหม่สูง ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดประเทศ และทำให้เกิดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ขณะที่เมียนมาเริ่มมีแนวโน้มการติดเชื้อลดลงแต่ยังเพิ่มเป็นหลักร้อย และเตรียมฉีดวัคซีนเดือน ก.พ.64
ขณะที่ไทยมีอัตราผู้ป่วยรายใหม่ราววันละ 200-300 ราย แต่อย่าไปตื่นตระหนกกับยอดผู้ป่วยอย่างเดียว ต้องลงไปดูในรายละเอียด เพราะสาเหตุที่ยอดผู้ป่วยมากขึ้นมาจากการคัดกรองเชิงรุก ซึ่งถือว่าเป็นผลดีที่สามารถค้นหาผู้ป่วยได้ แต่ที่ต้องจับตามองคือการติดเชื้อในประเทศที่ไม่ได้มาจากการคัดกรองเชิงรุก
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ถือเป็นเรื่องปกติ จากเดิมที่เป็นสายพันธุ์ D614 จากเมืองอู่ฮั่น เริ่มลดน้อยลงหลังจากมีสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้เร็วขึ้น โดยพบสายพันธุ์ G614 นอกประเทศจีนราว 26% เมื่อเดือน มี.ค.63 เพิ่มเป็น 65% ในเดือน เม.ย.63 และ 70% ในเดือน พ.ค.63 พอมาถึงเดือน พย.63 พบสายพันธุ์ใหม่ B 11.7 ในสหราชอาณาจักร 20-30% ของผู้ป่วย และเพิ่มเป็น 60% ในเดือน ธ.ค.63
"การกลายพันธุ์ได้เร็วกว่าเดิมจะมาทดแทนสายพันธุ์เดิม และเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตวัคซีน ซึ่งผู้ผลิตอาจต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้คงประสิทธิภาพ หรือต้องฉีดวัคซีนกันทุกปี" นพ.ประสิทธิ์ กล่าว