นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) และ ศบค. ยังมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิดภายในประเทศ 3 จุดที่สำคัญ คือ สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ และชายแดนใต้
โดยที่สมุทรสาคร จะต้องใช้แนวทางในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในโรงงานที่มีอยู่นับหมื่นกว่าโรง เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาเข้าสู่ระบบการรักษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมโรคทำได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในโรงงานต่างๆ ยังมีอุปสรรค เนื่องจากจำนวนโรงงานที่มีมาก แต่ก็จะต้องดำเนินการตามแผนที่วางไว้ คือ การใช้ทีมสอบสวนโรคเข้าไปสุ่มตรวจอย่างน้อยวันละ 600 แห่ง และตรวจอย่างน้อย 50 คน/โรง ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่จะต้องทำให้ครบภายในสิ้นเดือนนี้ตามที่ประกาศข้อกำหนดมาตรการจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ม.ค.64
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางหน่วยงานภาครัฐเองทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ตลอดจนกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้การควบคุมและจัดการโรคในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีความรวดเร็ว
"ในหมื่นกว่าโรงงาน ทำอย่างไรจะค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ตอนนี้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ พรุ่งนี้ต้องเอาข้อมูลมารายงานใน ศบค. ติดขัดตรงไหนจะได้เร่งแก้ไข เพื่อจะดึงผู้ป่วยที่รอการรักษาแยกออกมาให้ได้เร็วที่สุด" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ส่วนสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ที่มีความน่ากังวล แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะเป็นระดับ 1 หลักหรือ 2 หลัก เนื่องจากวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ มีลักษณะที่ใกล้ชิดกัน แม้ว่าพื้นที่จะมีขนาดไม่ใหญ่แต่จำนวนประชากรค่อนข้างหนาแน่น ทำให้เริ่มเห็นการแพร่เชื้อสู่บุคคลในครอบครัวเดียวกันมากขึ้น ดังนั้นระบบการค้นหาเชิงรุกจะต้องออกแบบและวางระบบเป้นอย่างดี ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำงานร่วมกัน กับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะใน 5 เขตที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นลำดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ คือ เขตบางขุนเทียน, เขตบางแค, เขตบางพลัด, เขตจอมทอง และเขตธนบุรี ซึ่งอาจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากมีพื้นที่ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรสาคร
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับไทย มีตัวเลขการระบาดในระดับหลักพันคนต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำประสบการณ์ในการควบคุมโรคที่เคยใช้กับประเทศเมียนมา ซึ่งมีชายแดนติดต่อทางฝั่งตะวันตกกับประเทศไทยมาใช้กับภาคใต้ด้วย ดังนั้นหากมีการควบคุมการระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแลและเป็นหูเป็นตาด้วยเช่นกัน
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงประเด็นการใช้วัคซีนโควิดในประเทศว่า แผนการจัดหาและการใช้วัคซีนนั้น ข้อมูลความเห็นทางวิชาการต่างๆ มาจากการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งในส่วนของคณะกรรมการโรคติดต่อ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตลอดจคณะที่ปรึกษาของ ศบค. ซึ่งเป็นทีมแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ
"ดังนั้น สิ่งที่ศบค.มีมติ และวางแผนออกไปนั้น อยู่บนพื้นฐานความจริง ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย ซึ่ง ผอ.ศบค.เคยให้ข่าวไปแล้วว่า จะต้องมั่นใจจริงๆ ถึงจะฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชน" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิดในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน ทั้งที่จริงแล้วกระบวนการปกติในการผลิตวัคซีนอาจต้องใช้เวลามากว่า 1 ปี ดังนั้น ความปลอดภัยไม่ได้อยู่ที่การใช้วัคซีนแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การควบคุมและป้องกันโรคในประเทศด้วย หากมั่นใจจริงๆ จึงค่อยใช้
"การที่ ศบค.ตัดสินใจ ไม่ได้เกิดจากความคิดของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นเราเดินกันอย่างช้าๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศอื่นติดเชื้อกันมาก จึงจำเป็นต้องเร่งใช้ ก็ไม่ว่ากัน เป็นเรื่องการตัดสินใจของผู้บริหารแต่ละประเทศ แต่เราไม่จำเป็นต้องเอาเวลามาเป็นตัวบีบคั้น หรือมาทำให้เราต้องตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ใช่หลักทางวิทยาศาสตร์ ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ เราใช้ชุดข้อมูลที่มีความสำคัญมาบริหารสถานการณ์" โฆษก ศบค.ระบุ