นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการใช้วัคซีนต้านโควิส-19 ในประเทศไทยว่า วัคซีนจะเป็นมาตรการเสริมในปีนี้ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยวัคซีนทีมีอยู่ในปัจจุบันแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน และมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน แบ่งเป็น
แบบที่ 1 ที่ใช้กันมากทางประเทศตะวันตก คือ แบบ mRNA เป็นการใช้รหัสพันธุกรรมไวรัสเป็นตัวนำ แล้วฉีดเข้าร่างกาย ผู้ผลิตวัคซีนกลุ่มนี้ คือ Pfizer และ Moderna เป็นวัคซีนใหม่ High Technology และยังไม่เคยมีการใช้ในมนุษย์มาก่อน
แบบที่ 2 เป็น Viral vector vaccine เป็นประเภทที่ประเทศไทยจะนำเข้ามา คือ บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า จำกัด ส่วนวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียและบริษัทในจีนนั้นไทยไม่ได้ติดต่อ ซึ่งจะคล้ายกับ mRNA และมีการใช้ในมนุษย์มาก่อน เช่น วัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า และยังมีของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่อยู่ระหว่างการวิจัยทดลองในระยะที่ 3 ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตการใช้จากทางการ
แบบที่ 3 เป็นวัคซีนจากเชื้อตายที่มีการนำมาใช้กว่า 70 ปีแล้ว ยกตัวอย่าง วัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบ A แต่ต้องให้วัคซีนหลายครั้ง เป็นวัคซีนรุ่นเก๋า แต่การศึกษาอาการข้างเคียงง่ายกว่าชนิดใหม่ และหากจะผลิตต้องสร้างห้องเพาะเชื้อก่อนทำให้ตาย ซึ่งจะต้องเป็นห้องชีวนิรภัยระดับสูง จึงไม่สามารถลดต้นทุนให้ถูกได้
นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย เลือกสายกลางของบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า จำกัด ที่ไม่ต้องใช้เชื้อก่อโรค และมีราคาถูก
"ตอนนี้ขอให้ทุกคนมีวินัย การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง วัคซีนเป็นตัวเสริม ตลาดของวัคซีนเป็นของผู้ขาย แต่ยืนยันว่าเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน และเชื่อว่าทุกคนจะผ่านวิกฤติไปด้วยกัน"นพ.ยง กล่าว
ส่วนเรื่องความกังวลกรณีประเทศนอร์เวย์ที่ พบรายงานผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น นพ.ยง กล่าวว่า วัคซีนใหม่เมื่อฉีดเข้าร่างกายแล้ว จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ และอาการข้างเคียงได้ แต่ต้องมีการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตให้ชัดเจนก่อนว่าสาเหตุมาจากการใช้วัคซีนหรือไม่
"เคสนอร์เวย์ ที่เสียชีวิตในผู้สูงอายุ ต้องรายงานก่อน ต้องพิสูจน์ก่อนว่าเสียชีวิตจากอะไร เพราะปกติใน Nursing Home จะมีเสียชีวิตทุกอาทิตย์อยู่แล้ว หากอายุเกิน 80 ปี มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคอื่นได้...ส่วนกรณีหมอเสียชีวิตที่โปรตุเกส ไม่เกี่ยวกับวัคซีน"นพ.ยง กล่าว
สำหรับในประเทศไทย กลุ่มที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนนั้น นพ.ยง กล่าวว่า เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล ไม่ให้เสียชีวิต ดังนั้นกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ด่านหน้า ซึงหมายถึงบุคลากรทางการแพทย์
"ผลวิจัย ไม่มีหลักฐานว่าจะไม่ติดโรคได้ ดังนั้นต้องรอพิสูจน์ให้ได้ก่อน จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องฉีดในวัยแรงงานก่อน"นพ.ยง กล่าว
ส่วนกรณีห้ามฉีดในเด็กต่ำกว่า 18 ปีและสตรีมีครรภ์นั้น เนื่องจากเป็นการเร่งรีบผลิตวัคซีนออกมาใช้ ทำให้ไม่มีข้อมูลของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ เด็กมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องรอผลการศึกษาให้ชัดเจนก่อน ทั้งเรื่องของจำนวนโดสที่จะใช้สำหรับเด็ก ขณะที่สตรีมีครรภ์ตามหลักการหากเป็นของใหม่จะไม่แนะนำให้ใช้ แต่หากมีข้อมูลในผู้ใหญ่มากพอแล้ว ค่อยมาชั่งน้ำหนักว่าให้แล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม โดยที่กรณีจำเป็นสามารถพิจารณาเป็นรายๆ ไป
"การใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย ในการป้องกันควบคุมโรคก่อน และต้องรอผลการศึกษาต่อไป แต่ไม่ว่าในภาวะปกติหรือภาวะฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้องติดตามไปเรื่อยๆ อีกอย่างน้อย 2 ปี ถ้าเกิดผิดปกติจะต้องรายงาน อย.หรือบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อประเมินอาการข้างเคียง"นพ.ยง กล่าว
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับคงตัวและมีแนวโน้มลดลง แม้จะมีบางพื้นที่ที่ยังต้องรักษาความเข้มข้นในการป้องกันโรค อย่างเช่น จังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องเข้มงวดในการเฝ้าระวังเชิงรุกต่อเนื่อง และเพิ่มการรองรับคนไทยกลับประเทศผ่านด่าน และเพิ่มมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในอำเภอชายแดน เพราะทางประเทศมาเลเซียยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก