ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 142 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 88 ราย จากสมุทรสาคร 63 ราย กทม. 14 ราย เชียงราย 1 ราย อ่างทอง 4 ราย นนทบุรี 2 ราย ปทุมธานี 1 ราย ระยอง 1 ราย ชลบุรี 1 ราย จันทบุรี 1 ราย, จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 37 ราย ในสมุทรสาคร 29 ราย กทม. 2 ราย ปทุมธานี 3 ราย จันทบุรี 3 ราย, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 17 ราย โดยมาจากเมียนมา 2 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย สวีเดน 1 ราย ตุรกี 3 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย อินเดีย 3 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย มาเลเซีย 3 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 12,795 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,301 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,167 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,327 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 9,842 ราย เพิ่มขึ้น 221 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 71 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้จำนวนผู้ป่วยในกลุ่มที่เดินทางมารับการตรวจหาเชื้อโควิดเองที่ รพ.มีมากกว่าผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก ซึ่งทำให้เห็นว่าสถานการณ์ยังไม่สามารถวางใจได้ การวางระบบให้สามารถค้นหาผู้ป่วยได้ไวย่อมจะดีกว่าการบังคับใช้มาตรการหรือข้อห้ามต่างๆ ซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือหากใครที่สงสัยว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อโควิด แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็ขอให้รีบเข้ามารับการตรวจรักษา
"ขอบเขตจังหวัดในการคุมเข้มการเดินทาง แม้จะพยายามทำ แต่คงไม่ 100% เพราะหลายคนมีใบอนุญาตให้เดินทาง ถ้าติดเชื้อไปแล้วคนหนึ่ง ระบบการตรวจหาเจอให้เร็ว มีความสำคัญกว่าการห้ามๆๆ ถ้าห้ามไปแล้ว หากเจอเชื้อหนึ่งราย ก็จะทำให้การจัดการเศรษฐกิจ สังคม มีปัญหา ดังนั้นใครมีอาการต้องรีบเข้ามาตรวจ แม้จะมีอาการเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องรีบมาตรวจ" โฆษก ศบค.ระบุ
อย่างไรก็ดี วันนี้มีรายงานจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 จังหวัด คือ เชียงราย ส่งผลให้ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศครอบคลุมอยู่รวมทั้งหมด 63 จังหวัด โดยผู้ป่วยเคสนี้มีความเชื่อมโยงกับการไปเที่ยวสถานบันเทิง ซึ่งช่วงบ่าย กระทรวงสาธารณสุขจะชี้แจงข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วยรายนี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และพบว่ามาเลเซียยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นในระดับสูง อย่างไรก็ดี แนวโน้มแรงงานไทยในมาเลเซียที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนเช่นในปี 63 ที่ปีนี้มีแรงงานไทยจากมาเลเซียทะลักข้ามกลับประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังอนุญาตให้แรงงานต่างชาติสามารถอยู่ในประเทศต่อไปได้ ประกอบกับมีการสั่งห้ามเดินทางข้ามรัฐ จึงเชื่อว่าในปีนี้จะไม่มีเหตุการณ์ที่แรงงานไทยจากมาเลเซียทะลักกลับเข้าประเทศเหมือนปีก่อน
"มาเลเซียยังอนุญาตให้แรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศได้ ดังนั้นทุกคนยังอยู่ในที่ตั้ง มีการห้ามเดินทางข้ามรัฐ ซึ่งก็ทำให้สบายใจได้ในระดับหนึ่ง ต่างจากในรอบที่แล้ว ที่พอมาเลเซียประกาศปิดเมือง แรงงานไทยจึงทะลักเข้ามาทางชายแดนจำนวนมาก" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้มีการเปรียบเทียบข้อมูลความรุนแรงของการระบาดในรอบแรกปี 63 และรอบใหม่ปี 64 โดยพบว่า ในรอบแรกมีผู้ป่วยรวม 4,237 คน เสียชีวิต 60 คน คิดเป็นอัตราการตาย 1.42% โดยผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด และโรคปอด ขณะที่การระบาดรอบใหม่ในปีนี้ มีผู้ป่วยรวม 8,416 คน เสียชีวิต 11 คน คิดเป็นอัตราการตาย 0.13% ดังนั้น จึงถือว่าการระบาดในรอบใหม่นี้มีความรุนแรงน้อยกว่ารอบแรก
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายเตชินท์ พลอยเพชร หรือ "ดีเจมะตูม" ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขอชื่นชมดีเจมะตูม ที่เมื่อทราบว่าติดเชื้อแล้ว ได้รีบเปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งจะพบว่าตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.64 จนถึงปัจจุบันได้มีการเดินทางไปยังหลายสถานที่ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเข้าไปใกล้ชิดกับดีเจมะตูม สามารถประเมินได้ว่าตัวเองเป็นผู้มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญคือ คนที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดจะต้องให้ความสำคัญกับการแยกกักตัวด้วย เพราะถ้าไม่กักตัวแล้วมีจำนวนผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
"ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าดีเจมะตูม จะเป็น super spreader ในวงการบันเทิง แต่ต้องขอชื่นชมที่ดีเจมะตูมเปิดเผยตัวเอง และบอกรายละเอียดไทม์ไลน์...ประโยชน์จากไทม์ไลน์ของดีเจมะตูมนี้ ถ้าจะให้ได้ผลคือ คนที่สัมผัสใกล้ชิดจะต้องตื่นตัวด้วย แล้วแยกกักตัวเอง ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวที่ต้องช่วยกัน" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
พร้อมย้ำว่า การใช้เฟซชิลด์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยป้องกันโควิดได้ เพราะแม้จะเฟซชิลด์คลุมทั้งใบหน้า แต่ก็ไม่ได้แนบชิดเหมือนกับการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ละอองฝอยจากการไอหรือจามยังสามารถเล็ดลอดออกมาได้ ซึ่งทำให้ยังสามารถรับเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นหากจะใช้เฟซชิลด์ก็ควรต้องสวมหน้ากากอนามัยร่วมด้วย
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า กรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมาก แม้พื้นที่จะไม่มาก แต่มีจำนวนประชากรอยู่สูง ประกอบกับการเดินทางที่สะดวก คล่องตัว และเป็นศูนย์กลางของประเทศ จึงไม่แปลกที่จะพบว่ามีเคสผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ เชื่อมโยงไปสู่หลายจังหวัดทั่วประเทศได้ ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปได้
"ถ้าจะบอกว่ากรุงเทพฯ เป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เกิดการควบคุมโรคได้ไหม ขอมองอีกมุม เราต้องคุมที่กรุงเทพฯ ด้วย เพราะการเดินทางง่าย ผู้คนอยู่ในพื้นที่จำกัด และใกล้ชิดกัน ดังนั้นต้องมีการวางแผนและดูแลในส่วนนี้" โฆษก ศบค.กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้ข้อมูลว่า จากการระบาดรอบใหม่นี้ กทม.โดยสำนักอนามัย ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการลงพื้นที่เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแล้วถึง 41,508 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 60 ราย ซึ่งขณะนี้พบว่าการติดเชื้อเริ่มมีความเชื่อมโยงออกไปหลายกลุ่มมากขึ้น ทั้งสถานบันเทิง การขนส่งสาธารณะ ติดเชื้อในครอบครัว ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวเองอย่างเข้มข้นต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.กำลังติดตามแนวโน้มการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันถือว่ายังทรงตัว และยังไม่ได้วางใจ ดังนั้นในช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. ยังจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเข้มข้นต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนในการดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ศบค.จะประชุมประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อนสิ้นเดือนนี้ว่าแต่ละพื้นที่จะสามารถผ่อนคลายมาตรการได้มากน้อยเพียงใด
"ความเข้มงวดจะต้องต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ชุดข้อมูลต่างๆ นี้ จะนำมาสู่การออกแบบพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เสี่ยงทั้งหลาย ที่ต้องมาวางแผนกันอีกใหม่รอบ ผอ.ศบค.จะประชุมกันก่อนสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ ศบค.ชุดเล็กและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องวางแผนแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ว่าจะมีการผ่อนคลายหรือเข้มงวด ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึง 31 ม.ค. ขอฝากทุกคนว่าเข้มกันตอนนี้ จะได้สบายในเดือนหน้า" โฆษก ศบค.ระบุ
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 97,306,536 ราย เสียชีวิต 2,083,257 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 24,998,975 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,611,719 ราย อันดับสาม บราซิล 8,639,868 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,633,952 ราย อันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,505,754 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 128