นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงวัคซีนโควิด-19 ว่า ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว 3 ราย โดยปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกใช้วัคซีนรายใดคือ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่ยอมรับได้ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ตลาดยังเป็นของผู้ขายทำให้วัคซีนมีราคาสูง แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้งานจะมีประสิทธิภาพได้นานแค่ไหน
นพ.ทวี กล่าวว่า การเตรียมการเรื่องวัคซีนนี้ผู้เกี่ยวข้องได้มีการหารือกันมานานหลายเดือนแล้ว แต่มีข้อติดขัดหลายเรื่อง เช่น ต้องมีการสั่งจองล่วงหน้า หากจองแล้ววิจัยไม่สำเร็จจะไม่คืนเงินจอง ซึ่งเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจที่จะนำเงินงบประมาณไปเสี่ยง
สำหรับวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซเนก้า นั้นต้องผ่านการพิจารณารับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เพื่อขึ้นทะเบียนก่อน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญจะมีการตรวจสอบผลศึกษาในทุกขั้นตอนตั้งแต่หลังปีใหม่ โดยบริษัทฯ ส่งเอกสารมาให้พิจารณากว่า 18,000 หน้า และบริษัทฯ มีนโยบายที่จะไม่หากำไรจากวัคซีนดังกล่าว แต่ต้องการช่วยเหลือคนทั่วโลก โดยบริษัทฯ ได้เลือกบริษัท สยามไบโอไซม์ ที่ได้มาตรฐานให้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาค และให้ผลิตวัคซีนจำนวน 200 ล้านโดส โดยก่อนที่จะนำวัคซีนไปใช้งานจะต้องส่งตัวอย่างไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบอีกที
การดำเนินการเรื่องการจัดหาวัคซีนนั้นไม่ได้ล่าช้า เพราะมีบางประเทศที่ยังจัดหาไม่ได้ ส่วนผลข้างเคียงที่กังวลกันนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการฉีดไปแล้วเป็นล้านราย โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ วัคซีนตัวนี้จะช่วยลดอัตราการป่วยตายได้มากน้อยเพียงไร
ส่วนวัคซีนของบริษัท ซิโนแวกซ์ ไบไอเทค จำกัดนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียน และอาจมีประชาชนไม่มั่นใจ แต่ตนเองอยากยืนยันว่าปัจจุบันเทคโนโลยีของจีนก้าวหน้าไปมากแล้ว เพราะวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหลายตัวผลิตมาจากประเทศจีน ได้แก่ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า, วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ แต่ก่อนจะนำมาใช้ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ก่อน
ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีนในประเทศไทยนั้นจะเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงก่อน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ด่านหน้า