อนุสรณ์ แนะรัฐบาลปรับงบประมาณเพิ่มลงทุนวิจัยยาและสุขภาพเพิ่มดันไทยเป็นฮับ

ข่าวทั่วไป Sunday January 24, 2021 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ ม. รังสิต กล่าวว่า สังคมไทย ประกอบไปด้วย รัฐบาล ภาคเอกชนและปัจเจกชนต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านสุขภาพ รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนงบประมาณโดยตัดลดงบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนนำมาใช้เพื่อลงทุนวิจัยทางด้านยาและสุขภาพเพิ่มขึ้น และ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยา กิจการทางด้านสาธารณสุขและการบริการทางด้านสุขภาพ เนื่องจากไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนได้

ขณะเดียวกันเพื่อเตรียมรับมือโรคอุบัติใหม่และการกลายพันธุ์ของ Covid-19 ควรใช้งบประมาณเพิ่มเติมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัยในอุตสาหกรรมยาและกิจการบริการสุขภาพและสาธารณสุขไม่ต่ำกว่า 3,000-5,000 ล้านบาทในแต่ละปี อุปสงค์ต่อบริการสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ อุปทานของบริการสุขภาพไม่สามารถเติบโตเพื่อตอบสนองได้ทัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนโดยตรง

นอกจากนี้ อุปทานของการบริการสุขภาพจำเป็นต้องมีการกำกับควบคุมให้ได้คุณภาพเนื่องจากเป็นกิจกรรมการให้บริการที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์โดยตรง จรรยาบรรณทางการแพทย์และการบริการสุขภาพ (Medical and Health Service Ethics) ไม่เป็นเพียงการควบคุมภายใน (Internal Control and Check) พฤติกรรมของบุคลากรสาธารณสุขและผู้ผลิตบริการสุขภาพ แต่ยังเป็นการรับผิดชอบของแพทย์ พยาบาลต่อการกำหนดกระบวนการบริโภคและกระบวนการผลิตบริการสุขภาพที่โอนจากผู้ซื้อบริการมาสู่ผู้ผลิตบริการสุขภาพ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำหลักการทุนมนุษย์ (Human Capital Approach) มาพิจารณาแนวทางในการลงทุนในอุตสาหกรรมยาและบริการสุขภาพ โดยเปรียบเทียบระหว่างผลได้ที่อยู่ในรูปของมูลค่าปัจจุบันของกระแสรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น หรือ กระแสค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่ประหยัดได้กับต้นทุนในการจัดหายาวัคซีน Covid ให้คนในประเทศได้รับการฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ขึ้นไป และ ต้นทุนผลกระทบจากการ Lockdown รวมทั้ง การต้นทุนค่าเสียโอกาสต่างๆทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจัดการเรื่องวัคซีน Covid การลงทุนในอุตสาหกรรมยาและบริการสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างยิ่ง

หากรัฐบาลสามารถทำให้ วัคซีน กลายเป็นสินค้าสาธารณะสำหรับทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย (รวมแรงงานต่างด้าว) จะทำให้เรามั่นใจต่อการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างชัดเจนและมีความพร้อมในการเปิดประเทศให้ได้ในไตรมาสสามปีนี้

วัคซีน Covid-19 เมื่อเป็นสินค้าสาธารณะย่อมหมายความว่า เป็นสินค้าทางด้านสาธารณสุขที่ไม่ต้องแข่งขันระหว่างประชาชนเพื่อให้ได้มา (Non-rivalness) และ ไม่สามารถกีดกันประชาชนคนอื่นเข้ามาใช้บริการได้ (Non-exclusiveness) ต้องทำให้การฉีดวัคซีน Covid-19 เป็นบริการสุขภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร จะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร หรือ ประกอบอาชีพอะไร หรือ มีอายุเท่าไหร่ ทุกคนต้องเข้าถึงหมด เราก็จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

นายอนุสรณ์ กล่าวย้ำว่า เราต้องลดอำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมยาและโรงพยาบาล การนำเข้าวัคซีนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนต้องไม่ถูกจำกัดให้เอกชนรายใดรายหนึ่งดำเนินการแต่ต้องเปิดโอกาสให้เอกชนทุกรายที่มีศักยภาพและมีความสามารถทำงานได้อย่างมีมาตรฐานดำเนินการได้อย่างเสมอภาค กรณีที่ใช้เงินงบประมาณอุดหนุนอันเป็นเงินภาษีประชาชนต้องมีการเปิดเผยสัญญาร่วมดำเนินการอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ

หากมีการผูกขาดหรือไม่เปิดเสรีเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมยาและการให้บริการทางด้านสาธารณสุข จะทำให้การพัฒนาและนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างล่าช้า ส่งผลเสียต่อประชาชนในระยะยาว กรณีการบริหารจัดการการเข้าถึงวัคซีน Covid-19 จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า เราบริหารจัดการด้วยแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดหรือไม่ ประสิทธิผลสูงสุดหรือไม่ และ การแข่งขันที่เหมาะสมที่นำมาสู่การเข้าถึงวัคซีนในราคาที่ถูกหรือไม่ อย่างไร

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากการบริการสุขภาพซึ่งรวมถึงการฉีดวัคซีน Covid-19 จะเผชิญภาวะความไม่แน่นอนมากกว่าการให้บริการโดยทั่วไป รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนและงบประมาณได้ตลอดเวลาและต้องกันเม็ดเงินเผื่อไว้ด้วย การบริการสุขภาพและการฉีดวัคซีนเกี่ยวข้องกับผลกระทบภายนอก (Externality) และ เป็นผลกระทบภายนอกที่เป็นทางบวกสูงมาก เพราะผู้ที่ได้รับวัคซีนนอกจากเกิดประโยชน์กับตัวเอง กับครอบครัวและหน่วยงานที่ทำงานแล้ว ยังส่งผลดีต่อสังคมไทยโดยรวมและโลกด้วย เนื่องจากกิจกรรมการฉีดวัคซีนมีลักษณะเป็นกิจกรรมเชิงกุศลเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติร่วมโลก (Philanthropic Activities) และ ไม่ควรหวังผลกำไร (Not-for Profit Activities) มีผลกระทบภายนอกที่เป็นบวกและเอื้ออาทร (Positive and Caring Externality)

จึงควรเพิ่มช่องทางในการส่งเสริมให้มีการบริจาคและช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านมาตรการทางภาษี ให้คนที่บริจาคเงินจ่ายค่าวัคซีนให้ผู้อื่นสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ปิดกั้นกลไกตลาดเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการสุขภาพในเชิงพาณิชย์ได้ร่วมในการจัดวัคซีนสำหรับผู้มีรายได้สูงหรือผู้มีฐานะ แต่วัคซีนที่ได้รับในล็อตแรกที่มีอย่างจำกัด รัฐจำเป็นต้องจัดสรรเอง โดยให้กับผู้จำเป็นและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ