นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวปฏิบัติและการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนรองรับการระบาดระลอกใหม่ว่า มาตรการที่นำเสนอต่อที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปใช้สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.พ.64 โดยสถานศึกษาต้องเตรียมความพร้อม 6 ด้าน คือ ความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อโรค, การเรียนรู้ที่เหมาะสม, การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส, สวัสดิภาพและการคุ้มครอง, นโยบายที่จะดูแลเด้กให้ปลอดภัย และการบริหารทรัพยากร โดยจะมีแบบประเมินตัวเองให้สถานศึกษาจัดทำแล้วส่งกลับมายังกรมอนามัยและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งส่วนใหญ่มีความพร้อม 90%
ทั้งนี้มีข้อสั่งการจากกระทรวงศึกษาธิการว่าน่าจะเปิดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.64 ในสถานศึกษาทุกสังกัด ส่วนสถานศึกษาจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดแม้จะปิดการเรียนการสอน ก็ให้กำหนดแนวทางการเรียนการสอนเพื่อไม่ให้เด็กขาดการเรียนรู้ ส่วนสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมาณฑลให้เปิดการเรียนการสอนได้แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ขณะที่เด็ก G กลุ่มเปราะบางนั้น หากอยู่ในประเทศไทยก็ให้อยู่ในระยะยาว ไม่ให้เดินทางไป-กลับ แต่หากเป็นกลุ่มที่เดินทางไป-กลับก็ให้เรียนรู้ผ่านใบงาน
นอกเหนือจากมาตรการตามหลักชีวอนามัยแล้ว ยังต้องมีมาตรการเสริม เช่น การเฝ้าระวัง คัดกรองความเสี่ยง โดยจะมีคณะกรรมการกำกับ ติดตาม และประเมินผลทั้งก่อนเปิดการเรียนการสอน และหลังจากเปิดการเรียนการสอนแล้ว
สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีทั้งสองช่วงมีจำนวน 287 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือมีอาการรุนแรง โดยการติดเชื้อในช่วงแรกเนื่องจากเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนช่วงหลังเป็นการติดเชื้อในครอบครัว โดยไม่พบการติดเชื้อจากครูผู้สอน
การปิดเรียนที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ทำให้มีพัฒนาการล่าช้า เด็กติดเกมมากขึ้น เด็กในเมืองกินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น 60% ทำให้มีความเสี่ยงเป็นภาวะอ้วน ส่วนเด็กในต่างจังหวัดไม่ได้รับอาหารกลางวัน เด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มไม่เรียนต่อ ขณะที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล ครอบครัวไม่พร้อมเรียนแบบออนไลน์ มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะที่ครูมีความเครียด กดดัน สับสน มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม