ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยถึงผลการสำรวจเรื่องความตื่นตัวของประชาชนต่อสภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อประเทศไทย โดยประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุของปัญหาโลกร้อน อันดับแรกมาจากการตัดไม้ทำลายป่า รองลงมาคือควันเสียจากโรงไฟฟ้า, โรงงานอุตสาหกรรม และท่อไอเสียจากรถยนต์
ส่วนผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลกร้อนและส่งผลต่อประเทศไทยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ 97.8% ระบุว่าส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรง รองลงมา 85.1% ระบุว่าส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย เช่น ไฟฟ้า เส้นทางคมนาคม และ 82.6% ระบุว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน พบว่า ประชาชนกว่า 1 ใน 3 หรือ 36.1% ระบุให้ลดการปล่อยสาร CFC ในโรงงานอุตสาหกรรม
รองลงมาขอให้ลดการตัดไม้ทำลายป่า /เผาป่า และการปลูกจิตสำนึกใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและใช้อย่างพอเพียง
ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าบุคคลหรือองค์กรที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนมากที่สุด คือ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รองลงมา คือ หน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท, ห้าง, ร้าน และองค์กรเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม
โดยปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ต้องการให้บุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวแก้ไขอย่างเร่งด่วน 5 อันดับแรก คือ ปัญหาน้ำท่วม, ปัญหาที่ทำกินของประชาชน, ปัญหาเศรษฐกิจ, ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน และปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
นายนพดล กรรณิกา ผ.อ.ศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และมีความเข้าใจต่อปัญหาโลกร้อนมากขึ้น แต่ยังไม่มีความตระหนักมากพอที่จะเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาจนถึงขั้นลงมือปฏิบัติ
ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มคนต้นแบบของสังคมควรเร่งลงมือปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นและปฏิบัติตาม ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการช่วยลดสภาวะโลกร้อนและบรรเทาปัญหาโลกร้อนสามารถทำได้ด้วยกิจวัตรประจำวันของประชาชนแต่ละคนเอง
ผลสำรวจดังกล่าว มาจากการสอบถามประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกระดับชั้นของสังคม ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ 4 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,191 ตัวอย่าง ระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21-29 ก.ย.50
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--