นายกฯ ยันพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง พร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 26, 2007 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน(US-ASEAN Business Council)โดยให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงมีรากฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งซึ่งเห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆ ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 50 ว่า GDP จะยังเติบโตได้ 4.3% และอาจสูงขึ้นได้อีกในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือน ธ.ค.50 แม้ไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ แต่ยังเชื่อว่า GDP ทั้งปีจะเติบโตได้ประมาณ 4-4.5%
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะยังคงไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 25% จากต้นปีและคาดว่าจะยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่น่าพอใจ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนในสาธารณูปโภคยังสูงขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบายที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และพลังงานทางเลือก ซึ่งการพัฒนาพลังงานทางเลือกเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งและสอดคล้องกับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยไทยให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของชาติ และกำลังหาแนวทางการผลิตพลังงานทางเลือกในจำนวนที่เพียงพอและใช้งานได้ โดยเน้นไบโอดีเซล และเอทานอล พลังน้ำและแสงอาทิตย์
"เชื่อว่าบริษัทของสหรัฐฯ ที่มีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจะสามารถช่วยเหลือให้ไทยบรรลุเป้าหมาย และหวังว่าสามารถทำงานร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายของทุกประเทศเช่นกัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.สุรยุทธ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบันว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเร่งคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเต็มรูปแบบในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ ประชาชนไทยจะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และขอยืนยันว่าทุกเรื่องจะดำเนินไปตามกระบวนการด้วยความราบรื่น
แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะประสบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือสภาพทางเศรษฐกิจ โดยไทยยังคงไว้ ซึ่งเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ส่งเสริมการค้าแบบเปิดและการรวมตัวกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และไทยยังคงต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทย
ส่วนกรณีที่นักลงทุนต่างชาติมีข้อกังวลต่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตลอดจนกฎหมายด้านการเงินต่างๆ นั้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความสับสนในช่วงแรก แต่ในระยะยาวเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำมาซึ่งความโปร่งใสยิ่งขึ้น
"มั่นใจได้ว่าไทยจะไม่ย้อนหลัง หรือใช้ระบบปิดประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค และจะคงดำเนินนโยบายนี้ต่อไป และจะยังคงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฏหมายและระเบียบต่างๆ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ