นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ก้าวต่อไปการ์ดไม่ตก หลังโควิดระลอกใหม่" ในงานสัมมนา "พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย" ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ไม่ได้เกิดจากคนไทยการ์ดตก แต่มีคนลักลอบนำเชื้อโรคเข้ามา
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งต้องเข้าใจว่าขณะนี้เป็นการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้เกิดความมั่นใจ สร้างความพร้อม โดยจะต้องรักษาสมดุลให้เหมาะสม คือ การดูแลระบบธุรกิจไปพร้อมๆ กับความสามารถในการดูแลผู้ป่วย
นายอนุทิน กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนนั้นทุกประเทศดำเนินการเช่นกัน โดยก่อนอื่นขอให้นำเรื่องวัคซีนออกจากประเด็นการเมือง เพราะไม่มีใครกล้านำชีวิตของประชาชนมาเป็นหลักประกันเพื่อสร้างชื่อเสียงทางการเมือง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนฟรีทุกคน
สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนของไทยอยู่ที่เดือน มิ.ย.64 ทยอยฉีดเดือนละ 5 ล้านโดส โดยใช้วัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซเนก้า ที่เลือกให้บริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน กำลังการผลิต 200 ล้านโดส ซึ่งน่าจะเป็นความภาคภูมิใจและสร้างความมั่นใจให้กับคนไทย โดยไม่เกิดปัญหาสะดุดเหมือนกรณีวัคซีน 5 หมื่นโดสแรกที่สหภาพยุโรป (อียู) สั่งระงับการส่งออก
"เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย ถึงแม้การเจรจาซื้อวัคซีนเข้าก่อนจะสะดุดแต่ไม่กระทบต่อการป้องกันโรค และเราคำนึงถึงประสิทธิภาพ ไม่ใช่ราคาถูกอย่างเดียว เราไม่ได้หลุดแทรค ยังเดินตามไทม์ไลน์ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็น free Covid-19 ก่อนประเทศอื่น" นายอนุทิน กล่าว
แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ แต่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงหรือเสียชีวิต ส่วนผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นนั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลอย่างรอบคอบ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศ ถือว่าไม่รุนแรง สามารถควบคุมได้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นหนูทดลองเรื่องวัคซีน แต่ก็ไม่ประมาท ขณะที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 2 หมื่นราย แต่รักษาหายแล้ว 1.4 หมื่นราย ซึ่งถือว่ามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง
"เมื่อเราได้รับวัคซีนแล้วไม่ใช่จะถอดหน้ากาก ยังต้องใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอลล์ต่อไปสักระยะหนึ่ง...ทุกอย่างยังเป็นทฤษฎี การฉีดวัคซีนต้องระมัดระวังมาก เราไม่ได้ล่าช้า ศึกษามาหลายเดือนแล้ว อย่านำเราไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการติดเชื้อวันละหลายหมื่นหลายแสนคน" นายอนุทิน กล่าว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนในช่วงที่ผ่านมามีความเสี่ยงทั้งในมิติทางการเมืองและมิติทางงบประมาณ เพราะไม่มีกฎหมายที่จะมารองรับการจองวัคซีนโดยไม่มีหลักประกันว่าสูญเงินหรือไม่ แต่เชื่อว่าหากเริ่มฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย.64 จะสามารถดำเนินการได้ครบภายในปีครึ่ง โดยแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่จะช่วยให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม
ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการฉีดวัคซีนครั้งนี้ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ทั้งหมดเข้ามาช่วยทำงาน และหลังจากระดมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรกเสี่ยงในเดือนแรกได้ราว 5 ล้านโดสแล้วจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปได้ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอใช้งานทั่วโลกราว 8 พันล้านโดสในช่วงกลางปีนี้
สำหรับกรณีวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนกานั้นได้รับคำยืนยันเมื่อกลางปี 63 ว่าจะสามารถผลิตได้ในเดือน ธ.ค.63
"การซื้อวัคซีนจากแอสตร้าฯ ไม่ใช่การซื้อขายตามปกติ แต่เป็นความร่วมมือและการพัฒนาประเทศด้วย เป็นการบริหารท่ามกลางความเสี่ยง...การสร้างกลไกในการจองวัคซีนในช่วงวิกฤตเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกรายให้สั่งจองล่วงหน้าหากผลิตไม่ได้ก็ไม่ได้เงินคืน" นพ.นคร กล่าว