นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พบว่า มากกว่า 19 จังหวัดยังมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปริมาณ PM2.5 ค่าระหว่าง 43 - 78 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา หรือภูมิแพ้กำเริบเท่านั้น แต่หากได้รับในปริมาณมากในระยะยาวจะส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งได้ เนื่องจากเมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลิไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer, IARC) ระบุว่ามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์ได้ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศถึง 6,330 ราย สำหรับการเจ็บป่วยพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากรายงานการเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศของคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอดกว่า 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร
"ทั้งนี้ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 โดยลดกิจกรรมนอกบ้าน และอยู่ภายในบ้าน หรือในอาคารให้มากขึ้น ควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 เมื่อต้องออกนอกอาคาร งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงในที่ที่มีฝุ่นมาก งดสูบบุหรี่ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ แสบจมูก แสบคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และให้ช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว