นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลัง นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2016 (โควิด-19) นำคณะตรวจเยี่ยมการเตรียมระบบให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลของสถาบันบำราศนราดูรว่า ระบบที่จัดไว้มี 8 ขั้นตอน เป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการทดสอบพบว่าผ่านไปด้วยดี ใช้เวลารวม 37 นาที สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้
โดยก่อนเข้ารับบริการจะมีการคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดให้เว้นระยะห่างทุกขั้นตอน เมื่อเข้ารับบริการตั้งแต่จุดที่ 1 ลงทะเบียน โดยใช้เครื่อง KIOSK ลดการสัมผัส, จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต จุดที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ, จุดที่ 4 รอฉีดวัคซีน จุดที่ 5 รับการฉีดวัคซีน ใช้เวลาเพียง 5-7 นาที
จากนั้นจุดที่ 6 ให้นั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที มีการจัดห้องปฐมพยาบาล แพทย์/ วิสัญญีพยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมดูแล และทุกรายต้องสแกน Line official account "หมอพร้อม" เพื่อใช้ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน แจ้งเตือนรับวัคซีนเข็มที่ 2 จุดที่ 7 ก่อนกลับบ้าน พยาบาลจะตรวจสอบเวลาว่าครบ 30 นาที สอบถามอาการ และให้คำแนะนำ พร้อมแจกเอกสารให้ความรู้ และจุดที่ 8 มี Dash Board จาก Line OA "หมอพร้อม" แสดงการประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนแต่ละชนิด
ทั้งนี้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทาง Line OA "หมอพร้อม" อีกด้วย
"ขอให้บุคลากรการแพทย์และประชาชนกลุ่มเป้าหมายมั่นใจการให้วัคซีนครั้งนี้ รัฐบาลเน้นย้ำความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการคัดเลือกวัคซีนสำหรับคนไทย และสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อม จัดระบบให้คำแนะนำ เฝ้าระวัง ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ไว้พร้อมแล้ว" นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล กล่าวว่า ระบบบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสถาบันบำราศนราดูรมีขั้นตอนที่ครบถ้วน จะนำไปเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนทุกปีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด- 19 ที่จะมีการฉีดในครั้งนี้ถือว่าเป็นการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนมากที่สุด จึงต้องมีการจัดขั้นตอนที่มากกว่าการฉีดวัคซีนอื่นๆ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยโรงพยาบาลสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่แต่ละแห่งตามบริบทของพื้นที่