นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้กล่าวถึงกรณีการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ของประเทศไทยว่า COVAX Facility (โคแวกซ์) เป็นโครงการประสานงานที่ถูกตั้งขึ้น มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน โดยในอาเซียนมีประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีแผนร่วมจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น และได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน ขึ้นมาเพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงกับโคแวกซ์ด้วย
นพ.นคร กล่าวต่อว่า การทำข้อตกลงจองวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงผ่านโคแวกซ์หรือการทำข้อตกลงโดยตรงกับผู้ผลิต จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูล และบริบทหลายๆ ด้านประกอบกัน เนื่องจากการตัดสินใจในการทำข้อตกลงจองวัคซีนในขณะนั้น เป็นความจริงที่ว่า วัคซีนโควิด-19 ของทุกบริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งสิ้น ยังไม่ทราบว่าวัคซีนชนิดใดจะประสบความสำเร็จ และยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่มากเพียงพอ เสียเงินค่าจองไปแล้วก็อาจไม่ได้รับวัคซีนหากการพัฒนาล้มเหลว การตัดสินใจทำข้อตกลงจึงอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ และความเสี่ยงที่ประเทศจะได้รับหากทำการจองวัคซีน และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขการจองวัคซีนผ่านโคแวกซ์ พบว่าการจองจะต้องมีค่าธรรมเนียมดำเนินการโดยคิดเพิ่มจากราคาวัคซีน โดยการจองแบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้มีค่าธรรมเนียม 1.6 USD /โดส การจองแบบเลือกผู้ผลิตได้ คิดค่าจองเพิ่ม 3.5 USD/โดส (รวมค่าธรรมเนียม 1.6 USD/โดส และค่าประกันความเสี่ยง 0.4 USD/โดส)
ทั้งนี้ แม้จะเลือกทำสัญญาจองซื้อแบบเลือกผู้ผลิตได้ แต่ไม่มีอิสระในการเลือกที่แท้จริง โดยโคแวกซ์จะเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ 2 รอบ ในรอบแรกโคแวกซ์จะเสนอรายชื่อผู้ผลิตที่โคแวกซ์มีข้อตกลงแล้วมาให้ ซึ่งไม่ใช่รายชื่อผู้ผลิตที่มีทั้งหมดในโลก หากผู้ซื้อไม่สนใจผู้ผลิตในรายการที่เสนอ จะต้องรอการประกาศตัวเลือกในรอบต่อไป ทำให้ได้วัคซีนช้าลง และหากเลือกผู้ผลิตที่มีชื่อในรายการ โคแวกซ์จะนำเงินที่ผู้ซื้อจ่ายไปจองวัคซีนกับผู้ผลิตก่อน แล้วผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเลือกในรอบที่ 2 ว่าจะทำสัญญากับผู้ผลิตรายนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ทำสัญญา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่จ่ายไปแล้วทั้งหมด และไม่ได้เงินคืนแม้ว่าการเลิกสัญญาจะเกิดจากการพัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จ นอกจากนี้ การซื้อวัคซีนจะต้องซื้อตามราคาจริงจากผู้ผลิต โดยต้องยอมรับทุกเงื่อนไข ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าขนส่งวัคซีน ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศ และภาษี เป็นต้น
"การทำความตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง มีความยืดหยุ่นมากกว่า เราสามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ สามารถต่อรองราคา หากซื้อเป็นจำนวนมาก ราคาก็ถูกลง และยังสามารถต่อรองเงื่อนไข ขอบเขตความรับผิดชอบได้ตามสมควร ทั้งนี้ การซื้อวัคซีนผ่านโคแวกซ์ ยังกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 10 % ของจำนวนประชากร หากต้องการวัคซีนรวดเร็ว ผู้ซื้อต้องยอมรับเงื่อนไข และความรับผิดชอบใด ๆ ตามที่ผู้ผลิตเสนออีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเจรจากับโคแวกซ์อย่างต่อเนื่อง และหากมีการปรับเงื่อนไขรวมถึงข้อเสนอที่ประเทศจะได้ประโยชน์ ก็อาจมีการทำข้อตกลงผ่านโคแวกซ์ได้" นพ.นคร กล่าว