นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก.สาธารณสุข กล่าวถึงวัคซีนพาสปอร์ตว่า โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตรายสามารถติดต่อจากการเดินทางข้ามประเทศได้ ในขณะนี้สิ่งที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อจากเดินทางประเทศต่างๆ เข้าสู่ประเทศไทยจะต้องกักตัว 14วัน จนพ้นระยะฟักตัวของโรค ถ้าไม่ติดเชื้อก็เข้าสู่ประเทศไทยได้ แต่ก็มีคำถามว่าดำเนินการเช่นเดียวกับโรคไข้เหลืองที่เมื่อฉีดวัคซีนแล้วมั่นใจป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นๆได้ ก็ไม่ต้องกักตัวโดยมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน
แต่ปัจจุบันวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ยังวิจัยไม่เสร็จแต่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันโรคได้ดีพอสมควร มีความปลอดภัย เพราะฉะนั้นหลายประเทศและไทยอนุญาตให้ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ยังไม่สามารถมั่นใจว่าป้องกันได้ 100% และยังไม่รู้จะป้องกันได้นานแค่ไหน ซึ่งวัคซีนเพิ่งออกมาใช้เพียง 3-4 เดือน โดยยังไม่มีหน่วยงานใดรับรองว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันได้ 100% และป้องกันได้นานกี่
ทั้งนี้ กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548(IHR2005) ซึ่งไทยเป็นภาคีของ IHR 2005 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ โดยองค์การอนามัยโลก (WTO) เป็นองค์กรรองรับการดำเนินการ ซึ่ง IHR2005 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ WHO ได้รับข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายรวมถึงไทยให้พิจารณาการใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือวัคซีนพาสปอร์ต ควรจะจัดการอย่างไร โดย WHO แนะนำว่ายังไม่ควรให้ใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ เพราะหลักฐานข้อมูลต่างๆยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าคนฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่โรคให้คนอื่น ฉีดวัคซีนจะอยู่ได้นานแค่ไหน หรือต้องฉีดซ้ำอีกกี่เข็มอย่างไร
แต่ทั้งนี้ โดยหลักการอนาคต เห็นตรงกันว่าถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพดีพอมีการใช้มากขึ้น การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สอดคล้องกับสถานการณ์
"ขณะนี้วัคซีนพาสปอร์ตเป็นแนวคิดน่าสนใจ แล้วมีความเป็นไปได้ในอนาคต ที่จะนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สำหรับคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอ ที่วัคซีนพาสปอร์ตจะมาทดแทนการกักตัว 14 วันได้อย่างมีประสิทธิภาพ"อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว