นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิควัคซีนป้องกันโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมและภาคีเครือข่ายมีความคืบหน้าถึงขั้นตอนเตรียมทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 จำนวน 210 คน ในเดือน มี.ค.64 ซึ่งหากผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ ในเร็วๆ นี้จะมีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพิ่มอีกแห่ง โดยมีกำลังการผลิต 25-30 ล้านโดส/ปี ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงต่อระบบสาธารณสุข และพร้อมเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
"จะได้ลบข้อครหาว่ารัฐบาลแทงม้าตัวเดียว เวลานี้เรากลายเป็นเจ้าของคอกม้าแล้ว...หวังว่าประชาชนคงจะได้รับข้อมูลเรื่องวัคซีนที่เป็นประโยชน์ เราทำงานเป็นทีม ทุกลมหายใจเข้าออกมุ่งที่จะทำให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย ไม่เสียใจ ไม่ย่อท้อ ขอกำลังใจจากทุกคนให้บุคลากรของกระทรวงด้วย" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน ยืนยันการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลเป็นไปตามแผน ไม่ได้ล่าช้าตามที่มีการกล่าวหา โดยขณะนี้ได้มีการสั่งซื้อแล้วรวม 63 ล้านโดส โดยจะได้รับมอบวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวก จากประเทศจีนล็อตแรก 2 แสนโดสช่วงปลายเดือน ก.พ.64 หลังจากนั้นเดือน มี.ค.64 จะได้รับมอบอีก 8 แสนโดส และอีก 1 ล้านโดสในเดือน เม.ย.64 ซึ่งในกระบวนการจัดหานั้นมีการติดต่อเจรจากับผู้ผลิตหลายราย
ส่วนวัคซีนของบริษัท แอสต้าเซเนก้า ที่ผลิตในประเทศไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ จะได้รับมอบในเดือน พ.ค.64 ซึ่งได้รับรายงานว่าวัคซีนที่ผลิตได้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท แอสต้าเซเนก้า
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม ใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่ฟักที่มีต้นทุนไม่สูง และเรามีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งผลศึกษาผ่านเฟส 1-2 แล้ว เตรียมทดลองในคนจะใช้เวลาอีก 8 เดือนคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงต้นปี 65
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในประเทสไทยไม่ได้ล่าช้า เพราะแผนการฉีดวัคซีนคงต้องใช้ระยะเวลาดูยาวนานพอสมควรเหมือนการวิ่ง 4,000 เมตร เราเพิ่งออกตัวไปได้ 20 เมตร แต่จะมีการทยอยฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จก่อนคนอื่นก็ได้