สำหรับกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.64 ที่มีวัคซีนปริมาณจำกัดจำนวน 2 ล้านโดส ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดอยู่ 10 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และ ตาก
ส่วนระยะที่ 2 ช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค.64 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอจำนวน 61 ล้านโดส จะฉีดต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ได้แก่ บุคลากรทางการแพทยและสาธารณสุขที่เหลือ ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ประชาชนทั่วไป นักการทูต แรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปี 64 วางแผนให้โรงพยาบาล 1,000 แห่งดำเนินการฉีดวันละ 500 โดส ให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านโดส
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยยึดหลักให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพที่ยอมรับได้ ปลอดภัยสูงสุด ความรวดเร็ว ความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 แต่อาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและตายของผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้
"หลังฉีดวัคซีนทั้ง 2 ตัว อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ฉีด เพราะรับสารแปลกปลอมเข้าไปร่างกายก็มีปฏิกิริยา ติดตามผลจากการฉีดในประเทศต่างๆ ไม่มีผลรุนแรง" นพ.โสภณ กล่าว