สธ.เผยตลาดที่ปทุมฯ ติดโควิด 175 ราย/จับตาชายไทยรายแรกติดสายพันธุ์แอฟริกาใต้

ข่าวทั่วไป Sunday February 14, 2021 19:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน จ.ปทุมธานี และ จ.ตากว่า ในส่วนของ จ.ปทุมธานี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีคำสั่งปิดตลาดพรพัฒน์ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปตรวจเชิงรุกในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 9-13 ก.พ. รวมทั้งสิ้น 1,333 ราย พบว่าติดเชื้อโควิด 175 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นคนไทย 111 ราย ต่างด้าว 64 ราย และอยู่ระหว่างรอผลอีก 3 ราย คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 13.13%

ขณะเดียวกัน ยังมีการแพร่ไปยังจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย เช่น กรุงเทพฯ นครนายก เพชรบุรี อ่างทอง นครราชสีมา สระบุรี และแพร่

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคมีข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้มีการแพร่ระบาดในเคสนี้ไปยังอีกหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ป่วยรายแรกที่พบในเคสนี้มีการเดินทางไปค้าขายในตลาดทั้งที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.ปทุมธานี ในขณะที่พ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ ในตลาดแห่งนี้ ก็มีลักษณะเดียวกันคือจะเดินทางไปขายของที่หลายตลาด จึงทำให้มีการแพร่เชื้อไปในจุดอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ สภาพภายในตลาดเอง แม้จะเป็นที่โล่ง แต่หลังคาเตี้ย อากาศจึงถ่ายเทไม่สะดวก ไม่มีการใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด พ่อค้าแม่ค้ามีการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องมีการพิจารณาเพื่อปรับสภาพให้ตลาดมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

พร้อมกันนี้ ได้ฝากเตือนว่าผู้ใดที่เข้าไปที่ตลาดพรพัฒน์ในช่วงวันที่ 9-13 ก.พ. หรือก่อนหน้านั้น 7 วัน หากมีอาการต้องสงสัยหรือไม่แน่ใจให้เข้ามาพบแพทย์ หรือแจ้งสาธารณสุขจังหวัด เพื่อทำการซักประวัติ และเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนสถานการณ์ใน จ.ตาก โดยเฉพาะที่ อ.แม่สอด พบว่าในช่วงการระบาดรอบใหม่พบผู้ป่วยสะสม 112 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา 89.29% ที่เหลืออีก 10.71% เป็นคนไทย และยังได้มีการตรวจเชิงรุกเพิ่มเติมที่ชุมชนตลาดสีมอย ตลาดพาเจริญ ในโรงงานต่างๆ รวมทั้งซุ้มเลี้ยงไก่ชน พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ซึ่งข้อมูลมีความเชื่อมโยงกับชาวเมียนมา

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงกรณีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ว่า มีความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1.ทำให้เชื้อระบาดง่ายขึ้น เช่น สายพันธุ์อังกฤษ 2.ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และ 3. ทำให้โรครุนแรงขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบ สำหรับประเทศไทยตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์จีเหมือนกับทั่วโลก ส่วนไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ มีโอกาสพบเจอได้ เช่นก่อนหน้านี้ พบสายพันธุ์อังกฤษในครอบครัวชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตรวจพบเชื้อและเข้าระบบกักตัวรักษาทำให้เชื้อไม่แพร่สู่ชุมชน

ล่าสุด พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (South African Variant) รายแรกของประเทศไทย เป็นชายไทย อายุ 41 ปี ทำงานรับซื้อพลอยอยู่ที่แทนซาเนีย 2 เดือน วันที่ 29 ม.ค. เดินทางต่อเครื่องเอธิโอเปียและเดินทางมาไทย จากการตรวจคัดกรองพบว่าสบายดี จึงเข้ารับการกักกันใน State Quarantine โดยวันที่ 3 ก.พ. ตรวจพบเชื้อจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และไม่แพร่เชื้อสู่ชุมชนภายนอก

"เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มาจากทวีปแอฟริกา จึงมีการเก็บตัวอย่างส่งไปถอดรหัสพันธุกรรม ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทีมสอบสวนโรคจึงลงไปตรวจสอบสถานกักกันโรคและโรงพยาบาล พบว่าเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องป้องกันอย่างดี และเก็บตัวอย่างส่งตรวจ พบเป็นลบทุกคน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

พร้อมระบุว่า สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ส่วนใหญ่พบการระบาดในทวีปแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ส่วนในเอเชียยังไม่มี จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีผลกับประเทศไทย ดังนั้น การคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่พบสายพันธุ์นี้ โดยนำเข้าสู่การกักกัน เก็บตัวอย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการและประวัติเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลทันที และตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะทำให้เชื้อไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ไม่กระจายติดในชุมชนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ