นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ในวันจันทร์ที่ 22 ก.พ.ว่า จะมีการพิจารณาถึงการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเกิดเหตุกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับ 2 ตลาดในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งคณะกรรมการ ศบค.ชุดเล็กจะเสนอเรื่องเข้ามา
ทั้งนี้ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้มีผลในการป้องปราม เพราะบางพื้นที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ดังนั้นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่อาจเจาะจงเฉพาะพื้นที่ได้ จึงต้องประกาศคลุมทั้งหมด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเอง แต่ไม่ใช่เป็นการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เป็นการประกาศเพื่อโยนอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งการต่างๆ ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ สั่งได้ไม่ครอบคลุม
นายวิษณุ กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ จะสอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนที่จะมาในสัปดาห์หน้าด้วย ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการออกมา ไม่เช่นนั้นหากโรคกลับมาระบาดลุกลามอีก จะกลายเป็นว่าวัคซีนไม่ศักดิ์สิทธิ์
"สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าวัคซีนคือ หน้ากาก และการเว้นระยะห่าง และสิ่งที่กลัวที่สุดคือ คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วไม่ระมัดระวัง ซึ่งต้องไม่ลืมว่า เมื่อฉีดไปแล้วเข็มแรก ต้องรอฉีดเข็มที่สอง ดังนั้นภูมิคุ้มกันยังไม่มีประสิทธิภาพ 100% ซึ่งหลังการประชุม ศบค.การพิจารณาเป็นอย่างไรก็จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 23 กพ.นี้ต่อไป นอกจากนี้ ศบค.ก็จะเตรียมพิจารณามาตรการผ่อนผันด้วย" รองนายกรัฐมนตรีระบุ
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายประเด็นผู้ปฎิบัติหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้เงินทวีคูณนั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า ในกฎหมายเขียนไว้จริง เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีโอกาสจะได้รับเงินทวีคูณ โดยต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ไม่มีมติ ครม.ในเรื่องดังกล่าว