ครม.เคาะร่างนโยบาย-แผนยุทธศาสตร์ด้านยาแห่งชาติ เพิ่มขีดความสามารถสู่ระดับสากล

ข่าวทั่วไป Tuesday February 23, 2021 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2563-2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ "ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ใช้ยาสมเหตุผล ประเทศมีความมั่นคงด้านยา อย่างยั่งยืน" ภายใน 20 ปี โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ระบบควบคุมยามีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล สอดคล้องกับค่าครองชีพและความสามารถในการจ่ายค่ายาของประชาชนและภาครัฐ มุ่งเน้นให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยา สามารถผลิตและจัดหายาจำเป็นไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน รวมทั้งเพิ่มความสามารถของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศในการแข่งขันสู่ระดับสากล

ทั้งนี้ตามร่างนโยบายฯ ดังกล่าวได้มีการวางกรอบการดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์ พันธกิจ และเป้าหมายตัวชี้วัดที่ครอบคลุมการส่งเสริมและพัฒนาทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากองค์กรระดับสากลอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2565 มีมูลค่าการผลิตยาชีววัตถุกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% และจำนวนผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรมหรือส่งออกได้รับการอนุญาตอย่างน้อย 30 รายการต่อปี พร้อมทั้งได้กำหนดกลไกการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานผ่านการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 3-4ค รั้งต่อปี

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานผลการดำเนินงานของนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ด้วยว่า ส่วนใหญ่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด เช่น จำนวนรายการยาจำเป็นที่มีปัญหาการเข้าถึงได้รับการแก้ไขอย่างน้อย 20 รายการ จำนวนรายการยาสามัญรายการใหม่ที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 30 รายการ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลในโรคเป้าหมายลดลงอย่างน้อย 50% สัดส่วนมูลค่าการบริโภคยาสามัญที่ผลิตในประเทศเมื่อเทียบยานำเข้าเพิ่มขึ้น 10%

อย่างไรก็ตามยังมีการดำเนินงานบางส่วนที่ไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด เนื่องมาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น จำนวนแผนงานโครงการที่มีจำนวนมาก ข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ และยังขาดวิธีการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอย่างเหมาะสมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ