นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม โดยมีผู้บริหารองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วม 18 องค์กร ว่า เป็นทิศทางก้าวใหม่ที่สำคัญของประเทศ เพื่อมุ่งเน้นในการส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจได้เข้ามามีส่วนในการรับใช้สังคมมากขึ้นกว่าธุรกิจปกติ ซึ่งได้ทำในรูปของ CSR ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 มีเจตนารมย์ในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักส่งเสริมการจ้างงานกับบุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษรวมทั้งการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม
"ในฐานะที่ผมเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ร่วมกับคณะกรรมการทุกท่านดำเนินการหลายประการในช่วงที่ผ่านมา เราสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจดทะเบียน และจดแยกวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจที่ต้องการพัฒนาตนเองไปเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไปในอนาคต" นายจุรินทร์ กล่าว
ปัจจุบันมีวิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 148 กิจการ ในจำนวนนี้เป็นกิจการที่ไม่ประสงค์แบ่งผลกำไรถึง 124 กิจการ และอีก 24 กิจการนั้นสามารถแบ่งผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นตามกฎหมายได้ไม่เกิน 30% ของกำไรสุทธิ แต่ที่น่ายินดี คือ ไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะที่ 148 วิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ยังมีอีก 10 กิจการที่ได้มาจดแจ้งเพื่อเตรียมการที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป ทำให้มองเห็นว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศของเรานั้นมีความคืบหน้า ที่สำคัญและเป็นภารกิจของภาครัฐและทุกองค์กรจะต้องช่วยกันทำให้เข้มแข็งเพื่อทำหน้าที่รับใช้สังคมและสามารถยืนหยัดทำธุรกิจของตนเองต่อไปได้ไม่ล้มหายตายจากไป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า มี 4 ข้อที่เป็นการบ้านร่วมกันคือ 1.เรื่องทุน หลายองค์กรจับมือกันจะช่วยเหลือวิสาหกิจเพื่อสังคมในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดใหม่ต่อไป 2.เรื่องการผลิตทั้งการพัฒนา ออกแบบ ภาคการผลิตสินค้าหรือบริการ 3.เรื่องการตลาด ทางกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาเป็นหน่วยงานสำคัญอีกอันหนึ่งช่วยส่งเสริมสนับสนุน และ 4.เรื่องเทคโนโลยี ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป
ด้าน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริม พัฒนาและกำกับดูแลการระดมทุนในตลาดทุนไทย เล็งเห็นความสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม และตระหนักดีว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมมีความต้องการระดมทุนจากบุคคลในชุมชนหรือประชาชน ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการที่มุ่งหวังแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
โดยในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ก.ล.ต.จะดำเนินการด้านการให้คำปรึกษา และส่งเสริมให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่อยู่ในรูปแบบของบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน รวมทั้งสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สำหรับการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ร่วมกัน ในปัจจุบันมีวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนสำเร็จแล้วทั้งสิ้น 3 ราย มูลค่าการระดมทุนรวม 130 ล้านบาท
ทั้งนี้ MoU ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง สวส.และหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมอีก 17 หน่วยงาน ได้แก่ (1) ก.ล.ต. (2) กระทรวงพาณิชย์ (3) กระทรวงมหาดไทย (4) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (5) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (6) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (7) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (8) ธนาคารออมสิน (9) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (10) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (11) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (12) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (13) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (14) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (องค์การมหาชน) (15) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (16) สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และ (17) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการดำเนินการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน