นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การปฏิรูประบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกลไกระงับข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยภายในปี 2565 ตั้งเป้าไว้จะต้องมีวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ เพื่อให้มีระบบสืบสวนสอบสวน ระบบนิติวิทยาศาสตร์ กระบวนการพิจารณาคดี ระบบบังคับคดี การเยียวยาความเสียหาย ตลอดจนการเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นทางเลือก มีบทลงโทษทางแพ่งและอาญาและการเข้าถึงการพิจารณาความได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ... พัฒนากระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐานและเกิดการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากไปกว่านั้น ยังได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัยและเท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฎิบัติตามของประชาชน รวมถึงสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ การดำเนินการที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายไปแล้ว 13 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2562 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2562 ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ในปี 2565 จะต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปในเรื่องนี้ อย่างน้อย 30 ฉบับ โดยเป็นการปรับปรุงกฏหมายเดิม 20 ฉบับ และจัดทำกฎหมายใหม่ 10 ฉบับ
"การปฏิรูประบบยุติธรรมและการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบที่ชัดเจน ทันต่อสถานการณ์และบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งมีกลไกระงับข้อพิพาททีเป็นธรรม มีมาตรฐาน นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นางสาวรัชดา กล่าว