เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าคงจะไม่เกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิในประเทศไทย หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.9
ริคเตอร์ที่ทางตอนใต้เกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่ายังไม่ได้ออกคำเตือนสึนามิ แต่อยู่ระหว่างเฝ้าระวังและประมวลผลจากข้อมูลที่ได้รับ
นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เตือนภัยฯ ยังติดตามข่าวสารจากศูนย์เตือนภัยทั่วโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอินโดนีเซีย รวมทั้งเครื่องตรวจวัดต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมี หลาย ๆ ช่องทางเพื่อนำมาประมวลผล ซึ่งโดยปกติแล้วรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิจะเป็นรอยเลื่อนในแนวดิ่ง คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อตรวจสอบในแน่ใจว่าจะเกิดเหตุสึนามิหรือไม่
ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ตอนกลางของเกาะและมีพื้นที่แผ่นดินของเกาะบังอยู่ แตกต่างจากสมัยที่เคยเกิดเหตุสึนามในประเทศไทยที่เหตุแผ่นดินไหวเกิดที่หัวเกาะสุมาตรา จึงไม่น่าจะเกิดสึนามิในประเทศไทย แต่สาเหตุที่แรงสั่นเทือนรับรู้ได้ถึงอาคารสูงในกทม.โดยเฉพาะย่านสีลมและสาทร เนื่องจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกจากผิวดินเพียง 10 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และการออกประกาศของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติด้วย
สำหรับรายงานเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.10 น.ตามเวลาในประเทศไทย ละติจูด 4 องศา 50 ลิปดา 50 ฟิลิปดาใต้ ลองติจูด 101 องศา 10 ลิปดา 10 ฟิลิปดาตะวันออก บริเวณตอนใต้เกาะสุมาตรา ห่างจาก จ.ภูเก็ต 830 กิโลเมตร
ขณะที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบผลกระทบหลังมีรายงานว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวตอนใต้เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และทางการอินโดนีเซียได้ประกาศเตือนภัยสึนามิ
เจ้าหน้าที่สำนักแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับทราบข้อมูลแล้วอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ โดยหากเห็นว่าจะส่งผลกระทบก็จะออกคำเตือนทางทีวีทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตามหลักการแล้วแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 7 ริคเตอร์ขึ้นไปสามารถทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ได้ แต่จะต้องมีปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--