นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดประชุมแนวทางกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในสถานพยาบาลเอกชนว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 800 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยกว่า 100,000 รายต่อปี จึงได้ขยายบริการกัญชาทางการแพทย์ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วและครอบคลุม เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เรื้อรัง เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดความแออัด ลดการรอคอยการรับบริการในโรงพยาบาลรัฐ
โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2564 มีสถานพยาบาลเอกชนได้รับใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว 86 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 22 แห่ง และคลินิก 64 แห่ง สถานพยาบาลเอกชนได้ซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยแล้ว 31 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง และคลินิก 21 แห่ง และเตรียมเปิดให้บริการในโรงพยาบาลเอกชน 382 แห่ง และคลินิกเวชกรรม/ ทันตกรรม/ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์อีกประมาณ 21,000 แห่ง
"กระทรวงสาธารณสุขเปิดกว้างให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น ส่วนการขยายขอบข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ มั่นใจว่าภาคเอกชนจะสามารถขยายผลไปได้เป็นวงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับการแพทย์และภาคเศรษฐกิจประเทศ" นายอนุทินกล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการอภิปรายและให้ความรู้ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ การขออนุญาตจำหน่ายสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ และการจัดซื้อจัดหาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ แก่ผู้ประกอบกิจการ/ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และมีบูธนิทรรศการ ให้ความรู้ รวมถึงสำรวจข้อมูลความต้องการเปิดให้บริการผ่านเว็บไซต์ของกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ