น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ คือ
กำหนดให้ลูกจ้าง มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด และกรณีที่ผลการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อ แต่ยังมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน ได้กำหนดให้รับสิทธิในการได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล โดยให้นำประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันไม่ใช่เนื่องจากการทำงานมาใช้บังคับ
นอกจากนี้ ยังกำหนดสิทธิให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พร้อมกำหนดให้กรณีลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตร หรือญาติ ปฏิเสธการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง กำหนดให้เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดค่าใช้จ่ายกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย แจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้นายจ้างทราบแล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน และกำหนดให้สถานพยาบาลมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายแทนลูกจ้าง และกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดมีข้อกำหนดให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่บิดา มารดาของลูกจ้าง ให้บิดามารดาของลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิตามประกาศนี้ด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว พบว่าตามที่ได้ประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีโควิด-19 ของแต่ละรัฐวิสาหกิจไว้ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และร่างประกาศฉบับนี้จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดรวมกว่า 285,598 คน ได้รับการคุ้มครอง และทำให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายโดยเร็วจากรัฐวิสาหกิจ