พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมว่า ในช่วงเย็นวันนี้จะมีมวลชน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเยาวชนปลอดแอก (REDEM) เวลา 18.00-21.00 น. 2.กลุ่มศิลปะปลดแอก (FreeArt) เวลา 18.30 น. และ 3.กลุ่มเพื่อนอานนท์ เวลา 19.19 น. มารวมตัวกันสนามหลวง ซึ่งทาง บช.น.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ขอแจ้งเตือนว่า เนื่องจากขณะนี้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบกับมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มี.ค.64 ประกาศห้ามในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุม หรือจัดกิจกรรมในลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ประกอบ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ทำให้ขณะนี้การชุมนุมทุกอย่างในกรุงเทพฯ ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย และฝากเตือนกรณีที่มีการประกาศว่าจะมีการแจกจ่ายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์บางอย่างที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีความผิดตามมาตรา 112 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ผู้จำหน่าย ผู้จ่ายแจก หรือผู้เกี่ยวข้องถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยทั้งนั้น
โฆษก บช.น. กล่าวว่า จะจัดกำลังตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามสถานการณ์และการข่าว และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมา โดยที่ผ่านมาตั้งแต่มีการชุมนุมได้มีการจับกุมและดำเนินคดีทั้งสิ้น 179 คดี โดยส่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการแล้ว 129 คดี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนและดำเนินการต่อไป
สำหรับพื้นที่สนามหลวงอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ บช.น.ได้ส่งกำลังตำรวจไปเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกทม.เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและระงับเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนการวางรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์รอบสนามหลวงนั้นมีความจำเป็นเพื่อป้องกันรักษาสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ การที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องไม่ให้เจ้าหน้าที่วางสิ่งกีดขวางเพราะเกรงจะกระทบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น แนวทางการแก้ไขง่ายนิดเดียว เพียงแค่ไม่มาชุมนุมก็จะไม่มีปัญหาใดๆ จะอ้างว่าเกิดผลกระทบต่อเด็กที่สอบไม่ได้ เป็นเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเอง ไม่ใช่การระวังป้องกันของตำรวจ
ส่วนมาตรการในช่วงเช้าจะยังไม่มีการวางสิ่งกีดขวางปิดการจราจร แต่ในช่วงเย็นที่จะมีการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะประเมินตามสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนสนามสอบต่างๆ ไม่ได้อยู่รอบสนามหลวง แต่เส้นทางเคลื่อนผ่านของผู้ชุมนุมอาจมีผลกระทบ ตอนนี้ยังไม่สั่งปิดถนน แต่จะดูสถานการณ์ในช่วงเย็นอีกครั้งว่าจำเป็นต้องปิดถนนหรือไม่ ซึ่งถนนท้ายวังและอัษฎางค์จะได้รับผลกระทบแน่นอน ขอให้ประชาชนใช้สะพานพุทธ สะพานปกเกล้า ข้ามจากฝั่งพระนครไปฝั่งธนบุรีเป็นเส้นทางเลี่ยง รวมถึงสะพานพระราม 8 และสะพานซังฮี้ เพื่อเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ และถนนกาญจนาภิเษก
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) กล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องวางสิ่งกีดขวางเป็นการประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันระวังไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น การรักษาสถานที่ราชการสำคัญต่างๆ การป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ และป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจไม่ได้ตั้งใจจะบุกรุกเข้าไปในสถานที่ แต่ขณะที่ชุมนุมนั้นอาจมีอารมณ์ร่วมระหว่างการชุมนุม ฉะนั้นการวางสิ่งกีดขวางหรือสิ่งกีดกั้นเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้มาชุมนุมกระทำผิดซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดที่มีอัตราโทษสูงขึ้น เป็นการประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ตามการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความเป็นห่วงใย จึงพยายามดำเนินการให้ดีที่สุดเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านการจราจร
สำหรับการชุมนุมในช่วงเวลาปกติที่ไม่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องการระบาดของโรคติดต่อที่ร้ายแรง จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องมีการแจ้งเจ้าหน้าที่และการชุมนุมนั้นจะต้องเป็นไปโดยสงบตามสันติวิธี แต่ขณะนี้อยู่ภายใต้การบริหารของกฎหมายที่มีความพิเศษขึ้นมา ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการต่างๆ และสถานที่สำคัญ ซึ่งมีการเชิญชวนผ่านออนไลน์ให้ใช้สิ่งของที่ไม่เหมาะสมบุกรุกเข้าเข้าไปขว้างปาสิ่งของต่างๆ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่สมควร การตั้งสิ่งกีดขวางในรูปแบบต่างๆ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดที่เหตุรุนแรงและการกระทำผิดที่รุนแรงยิ่งขึ้น