(เพิ่มเติม) สธ.เผยแคมป์คนงานสมุทรปราการติดโควิด 17 ราย ไทยฉีดวัคซีนแตะ 7 หมื่นราย

ข่าวทั่วไป Sunday March 21, 2021 18:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) สธ.เผยแคมป์คนงานสมุทรปราการติดโควิด 17 ราย ไทยฉีดวัคซีนแตะ 7 หมื่นราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มก้อน จ.สมุทรปราการว่า ยอดผู้ติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 17 ราย ซึ่งจุดเริ่มต้นของคลัสเตอร์นี้ มาจากคนงานก่อสร้างเพศหญิง ชาวกัมพูชา อายุ 29 ปี ที่ทำงานอยู่ในแคมป์ก่อสร้างย่านสุขุมวิท 117 ต.บางเมืองใหม่ โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ผู้ป่วยรายนี้เดินทางไปขอตรวจโควิดที่ รพ.แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อขอใบอนุญาตต่ออายุการทำงาน ผลพบว่าติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ในกรุงเทพฯ

จากนั้น ทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานที่สุขุมวิท 117 และแคมป์คนงานที่สุขุมวิท 107 รวมพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 16 ราย ประกอบด้วย คนงานไทย 4 ราย, คนงานกัมพูชา 10 ราย และคนงานเมียนมา 2 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้รักษาตัวอยู่ใน รพ.ของรัฐ ที่ จ.สมุทรปราการ ส่วนการตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เช่น คนงานที่อยู่ในแคมป์ 584 คน และหอพักบางแค 14 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนวิศวกร 29 คน ผลตรวจไม่พบเชื้อ 23 ราย ยังเหลืออีก 6 รายอยู่ระหว่างรอผลตรวจ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พบมีการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง มี 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ภายในแคมป์ที่พักและไซต์ก่อสร้าง มีการใช้งานพื้นที่และสิ่งของร่วมกัน เช่น อ่างชะล้าง, ห้องสุขารวม, ห้องอาบน้ำรวม และตู้กดน้ำดื่ม เป็นต้น 2.พนักงานคนไทยมีการฝ่าฝืนมาตรการของบริษัท โดยไปพื้นที่เสี่ยงเพื่อสังสรรค์ หลังจากนั้นบริษัทจึงให้กลุ่มดังกล่าวออกจากงาน และพบว่ามี 1 รายตรวจพบเชื้อโควิด

"จากนี้ การสอบสวนควบคุมโรคจะติดตามไปในแคมป์คนงานอื่นๆ เพิ่มเติม ค้นหาปัจจัยเสี่ยงและต้องแก้ไข รวมถึงเฝ้าระวังเชิงรุกในบางจุดมากขึ้น ในภาพรวมถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว หากเจอผู้ติดเชื้อเพิ่ม คาดว่าจะเจอแบบกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ความระมัดระวังและความร่วมมือขององค์กรและบริษัทมีความสำคัญมาก หากหละหลวมจะทำให้มีความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งการระบาดในระลอกใหม่ ข้อสังเกตคือมักไม่มีอาการ จึงต้องไม่ประมาท โดยใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ไม่อยู่ในพื้นที่แออัด" นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ย่านตลาดบางแค ข้อมูลล่าสุดจากการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 384 ราย ประกอบด้วย การตรวจเชิงรุกในพื้นที่ตลาดย่านบางแคทั้ง 6 แห่ง พบผู้ติดเชื้อ 309 ราย คิดเป็น 8.32% ของจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ 4,315 ราย และยังรอผลตรวจอีก 309 ราย, การตรวจด้วยหน่วยบริการตรวจรถพระราชทาน พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย คิดเป็น 0.6% ของจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ 6,293 ราย และยังรอผลอีก 2,108 ราย ส่วนการตรวจเชิงรุกในชุมชนใกล้เคียง พบผู้ติดเชื้อ 49 ราย คิดเป็น 1.08% ของจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ 4,886 ราย และยังรอผลอีก 386 ราย

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สั่งให้ปิดตลาด พร้อมปรับปรุงระบบสุขาภิบาล และมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่พ่อค้าแม่ค้า แรงงานทั้งไทยและต่างด้าว ตลอดจนชุมชนโดยรอบตลาด รวมถึงการออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิด ก่อนอนุญาตให้กลับไปขายของในตลาดได้

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงภาพรวมการฉีดวัคซีน และการบริหารจัดการวัคซีนล๊อตใหม่ว่า ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ 28 ก.พ.-20 มี.ค.64 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมแล้ว 69,927 ราย ประกอบด้วย บุคลากรการแพทย์ สาธารณสุข อสม. 32,207 ราย, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,763 ราย, บุคคลที่มีโรคประจำตัว 5,122 ราย, ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 1,514 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 23,321 ราย

"ตัวเลขดังกล่าว เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการจนถึงวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งยังไม่รวมประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากการออกหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ของกทม. ที่ไปฉีดให้อีก 1,000 กว่าราย รวมยอดผู้รับวัคซีนแล้วน่าจะแตะ 7 หมื่นราย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการแพ้ที่รุนแรง และปลอดภัยดี" อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 20 มี.ค.64 นั้น ในส่วนของวัคซีนจากบริษัทซิโนแวก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งวัคซีนให้แก่จังหวัดเป้าหมายเบื้องต้น ครบทั้ง 13 จังหวัด ระยะที่ 1 รอบแรกแล้ว จำนวน 116,520 โดส นอกจากนี้ ได้มีการจัดส่งเพิ่มเติมให้กับพื้นที่กรุงเทพฯ จากการระบาดในย่านตลาดบางแคอีกกว่า 26,640 โดส และที่ จ.สมุทรสาคร อีก 34,920 โดส รวมแล้วเป็นจำนวนวัคซีนที่ส่งให้กับพื้นที่ทั้งหมด 178,080 โดส

ส่วนวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งให้กับ จ.สมุทรสาคร ไปแล้ว 10,000 โดส จ.นนทบุรี 5,000 โดส จังหวัดปทุมธานี 5,000 โดส และ จ.สมุทรปราการ 5,000 โดส

"โดยรวมขณะนี้ ได้มีการจัดส่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ให้พื้นที่แล้ว 203,080 โดส ส่วนที่เหลือ เช่น กทม. จ.ตาก แม่สอด ที่มีผู้สูงอายุประสงค์จะฉีดของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น กำลังรวบรวมตัวเลขเข้ามา ซึ่งส่วนกลาง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะได้จัดส่งให้ต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวกล็อตใหม่อีก 8 แสนโดส ถือว่าเป็นไปตามแผน โดยองค์การเภสัชกรรม ในฐานะผู้นำเข้าได้ตรวจสอบเอกสาร ทั้งความปลอดภัยและคุณภาพการผลิตของโรงงาน จากนั้นส่งวัคซีนไปทดสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะกระจายวัคซีนไปฉีดประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เป้าหมายที่วางแผนไว้ ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ประเทศไทยนำมาฉีดถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์และดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากแล้ว ยังพบการติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างสูง จนมีการประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ เนื่องจากการ์ดตกหลังฉีดวัคซีน ดังนั้น ประเทศไทยที่กำลังมีการทยอยฉีดวัคซีน จึงต้องย้ำว่ายังต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันต้องใช้ระยะเวลา

"กรณีเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ การกักตัวยังมีความสำคัญ ดังนั้น ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้จำนวนมาก ยังคงต้องให้กักตัว 14 วัน" อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ