พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ได้รับทราบการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ศูนย์กักสวนพลู และศูนย์กักบางเขน อีก 297 ราย จากเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ตัวเลขอยู่ที่ 98 ราย โดยได้ตรวจหาเชื้อไปแล้ว 1,188 ราย ทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง สัญชาติที่พบผู้ติดเชื้อมากสุด คือ เมียนมา รองลงมา คือ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง
"ผู้ติดเชื้อได้เดินทางข้ามมาในราชอาณาจักรไทยและถูกจับได้ จึงนำตัวไปที่ศูนย์กักสวนพลู และบางเขน ตอนนี้ทางศูนย์ฯ ได้ตัดสินใจที่จะงดรับผู้ต้องกักรายใหม่ และได้คัดแยกผู้ต้องกักที่ติดเชื้อออกไปจากส่วนใหญ่ มีการตรวจเจ้าหน้าที่ทุกราย และเบื้องต้นยังไม่พบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ" พญ.อภิสมัยกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้อยู่ในพื้นที่สโมสรตำรวจแล้ว โดยเตรียมไว้รองรับทั้งหมด 120 เตียง และยังสามารถขยายเพิ่มได้ถึง 250 เตียง นอกจากนี้ ได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ต้องกัก ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 70 ราย
อย่างไรก็ดี กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการควบคุมและป้องกันโรค โดยมีแผนจะเข้าตรวจผู้ต้องกักทั้ง 2 แห่ง ซ้ำในอีก 7 วัน และ 14 วันถัดไป
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ 6 เขตของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ในพื้นที่ 6 เขตที่อยู่ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย เขตภาษีเจริญ, เขตบางแค, เขตหนองแขม, เขตบางบอน, เขตจอมทอง และเขตบางขุนเทียน ซึ่งถือเป็นเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนั้น ล่าสุดได้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้วกว่า 83,000 ราย
โดยในส่วนของการตรวจเชิงรุกในโรงงาน มีการตรวจไปแล้ว 128 แห่ง จำนวนแรงงานที่เข้ารับการตรวจเชิงรุก 21,458 ราย ผลพบติดเชื้อโควิด 77 ราย คิดเป็น 0.36% แบ่งเป็น เขตภาษีเจริญ 46 ราย, เขตบางแค 10 ราย, เขตบางบอน 9 ราย และเขตบางขุนเทียน 12 ราย
ขณะที่การฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 15,737 ราย ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถมาเข้ารับการฉีดวัคซีนได้แล้วตามสถานพยาบาลที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ของ กทม.
พญ.อภิสมัย ยังย้ำถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ว่า ศบค.มีความเป็นห่วงว่าจากเทศกาลที่กำลังมาถึงนี้ จะมีผลให้เกิดการแพร่ระบาดได้มากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมีภาวะเครียดและเหนื่อยล้าจากการต้องอยู่ในสถานการณ์ของโรคระบาดมานาน ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ และต้องการจะผ่อนคลาย ซึ่งอาจจะทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดได้มากขึ้น ดังนั้น ศบค.ขอเน้นย้ำว่าไม่ได้มีการห้ามจัดเทศกาลสงกรานต์ เพียงแต่ขอให้อยู่บนมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้
"สงกรานต์จัดได้ ไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ปลอดภัย อยู่ในมาตรการที่จังหวัดดูแลได้ และสิ่งสำคัญคือ สาธารณสุขยังมีระบบดูแลที่เพียงพอได้ กิจกรรมทางศาสนาจัดได้ พิธีกรรม งานบุญ งานแห่ การละเล่นตามประเพณีพื้นบ้าน การแสดงออกทางวัฒนธรรม ให้ไปดูไปชมเพื่อมีความสุขได้ ขณะเดียวกันต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการสวม mask เว้นระยะห่าง และทำให้สงกรานต์ปลอดภัย เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ เป็นการบริหารความเสี่ยง และความสุขควบคู่กันได้ ไม่ต้องติดโรค" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ