นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เริ่มทำวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 แล้ว หลังจากได้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก โดยผลวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
วันนี้ อภ.ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มศึกษาวิจัยวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 โดยการศึกษาวิจัยจะฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครรวม 460 คน และจะศึกษาวิจัยในมนุษย์ให้มีผลครบถ้วนเพื่อนำข้อมูลไปยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยไข่ไก่ฟักที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว พร้อมปรับมาใช้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที คาดว่าภายในปี 65 จะขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนได้ โดยผลิตได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี
"เมื่อการทดลองประสบความสำเร็จจะทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยดีขึ้น สามารถบริหารจัดการวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เราจะมีอิสระในการบริหารจัดการ การวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการที่เราสร้างวัคซีนขึ้นมาเองบนต้องขอขอบคุณอาสาสมัครในการฉีดวัคซีนวันนี้พวกคุณถือเป็นวีรบุรุษวีรสตรีในการเสียสละทุ่มเทเพื่อทดสอบวัคซีน ให้เกิดประโยชน์กับมนุษยชาติ" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีและถือเป็นความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญแสดงถึงความสามารถของคนไทย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เป็นสิ่งยืนยันว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยแทงม้าตัวเดียวอย่างที่ถูกตั้งข้อสงสัย แต่ไทยเลือกม้าเต็ง กระจายความเสี่ยง และประชาชน ต้องได้ประโยชน์สูงที่สุด มีความปลอดภัยมากที่สุด วันนี้จะเห็นว่าเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ไทยสามารถปรับตัว และจัดหาวัคซีนได้ตามแผนการที่กำหนด จัดการสถานการณ์เร่งด่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ระยะยาว ได้วางแผนในเรื่องของการผลิตเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ ต้องหายางยืนได้ด้วยขาของตัวเอง ต้องไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
เมื่อไทยเริ่มผลิตวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงกลางปีนี้ เราจะมีวัคซีนใช้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นชาติผู้ผลิต ไม่ต้องลุ้นว่าฉีดเข็ม 1 แล้ว เข็มที่ 2 ต้องไปหาจากไหน เพราะได้เตรียมการไว้ครบถ้วน จากนั้นในปี 65 หากวัคซีนของ อภ.มีความก้าวหน้าไปตามแผน ไทยจะมีทางเลือกมากขึ้นไปอีก นี่คือเป้าหมายระยะยาว เพราะอย่าลืมว่าการฉีดวัคซีน ต้องฉีดต่อเนื่อง แผนการจึงต้องวางไว้เพื่อให้บริการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ต้องไม่มีคำว่าสะดุด และไทยทำได้ตามเป้า
"การควบคุมโรค ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน คนที่วิ่งเร็วกว่าในช่วง 50 เมตรแรก ก็ไม่ได้แปลว่าจะชนะการแข่งขันเสมอไป"นายอนุทิน กล่าว
รายงานข่าว ระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในอาสาสมัครครั้งนี้ เริ่มทดลองกลุ่มแรก 18 คน และในวันนี้ได้ฉีดในอาสาสมัคร 4 คน แบ่งเป็นช่วงเช้า 2 คน และช่วงบ่าย 2 คน ขั้นตอนจะมีการซักประวัติและเซ็นหนังสือยินยอมยินดีร่วมโครงการวิจัย หลังจากนั้นก็จะตรวจเลือดอาสาสมัคร เพื่อดูค่าตับ ค่าไต เม็ดเลือดแดง ตรวจหาตับอักเสบบี ตับอักเสบซี และเอชไอวีและทำนัดหมายมารับวัคซีน
ทั้งนี้ อาสาสมัครจะต้องไม่ติดเชื้อหรือมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มอาสาสมัครจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อทำการสุ่มตัวอย่าง โดยผู้ดำเนินการฉีดกระทำโดยพยาบาลอิสระ และกลุ่มเฝ้าสังเกตอาการอีกกลุ่ม โดยมีการตรวจว่า 30 นาทีแรกเกิดอาการหรือไม่ และสังเกตอาการต่อ 4 ชั่วโมง ก่อนจะอนุญาตให้กลับบ้านได้