นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)กล่าวว่า ขณะนี้สภาพัฒน์เป็นห่วงภาวะการจ้างงานสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้มีสัดส่วนการว่างงานสูงถึง 4% เนื่องจากภาวะการลงทุนที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การจ้างงานใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วย
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้รายงานให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม รับทราบถึงแนวโน้มของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง เบื้องต้นน่าจะมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและจีนที่หันไปท่องเที่ยวที่ประเทศเวียดนามมากขึ้น
สภาพัฒน์ รายงานว่า ช่วงไตรมาส 2/50 (เม.ย.-พ.ค.) มีสถิติคนที่มีงานทำ 35.8 ล้านคน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.7% โดยการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 13.6 ล้านคนไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 22.1 ล้านคน เพิ่ม 1.5%
สาขาโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามาก, สาขาก่อสร้างเพิ่ม 1.6% เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และสาขาอุตสาหกรรม เพิ่ม 1.3% เนื่องจากสินค้าผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องหนังยังสามารถส่งออกได้ดี
ทั้งนี้ โครงสร้างตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่เข้มแข็งสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดได้ 2 แสนคน และคนงานที่ถูกเลิกจ้างยังย้ายไปทำงานอุตสาหกรรมอื่น ทำให้ผู้ว่างงานลดลงจาก 6.07 แสนคน เหลือ 5.9 แสนคน หรือลดลง 2.8% โดยมีสัดส่วนว่างงาน 1.6% ของแรงงานทั้งหมด
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือผู้ที่จบการศึกษาระดับวิชาชีพเทคนิคและอนุปริญญามีอัตราว่างงานถึง 4% ของกำลังแรงงานกลุ่มนี้และระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีอัตราว่างงาน 3.2% แสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษายังไม่ตอบสนองกับความต้องการตลาด ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกับสถานประกอบการในการพัฒนาระบบการเรียนเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลจากเศรษฐชะลอตัว เพราะการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนชะลอตัว ส่งผลให้แรงงานทั้งสองกลุ่มว่างงานในอัตราที่สูง ซึ่งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเร่งโครงการลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--