นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธรณสุขจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูและเกษตรกรไม่ให้เกิดความเสียหายจากการปลูกกัญชง และไม่ให้ถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี โดยจะเข้าไปดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การปลูก การสกัดหรือแปรรูป และการพัฒนาต่อยอดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
"ไม่ใช่คิดจะปลูกก็ปลูกได้เลย ต้องมีการขออนุญาตก่อน เพราะยังควบคุมการปลูกอยู่ อย่าไปตามกระแสโดยไม่ไตร่ตรอง เดี๋ยวจะถูกหลอก" นพ.ธงชัย กล่าว
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ จะเข้ามาดูแลเรื่องความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกตั้งแต่มาตรฐานของเมล็ดพันธุ์กัญชง ทั้งในส่วนของผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และผู้ปลูก การวิจัยสายพันธุ์ที่เหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับระบบการเพาะปลูกที่มีความเหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ การดูแลรักษาในระหว่างการปลูก ตลอดจนการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอนุญาต การปลูกกัญชา ซึ่งจะทำหน้าที่ประเมินความเหมาะสมในเบื้องต้นแล้วส่งต่อให้กับคณะกรรมการในระดับจังหวัดพิจารณา
"เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่จึงยังไม่มีการทำวิจัยไว้ จากนี้จะได้เร่งวิจัยหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่" นายพิเชษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ หลังมีข่าวการหลอกขายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรรายย่อย โดยคาดว่าจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์เข้ามาเริ่มทดลองได้ราวเดือน ส.ค.64 ซึ่งจะทดลองปลูกทั้งในระบบปิด, ในโรงเรือน และในระบบเปิด ซึ่งจะได้ผลทดลองชุดแรกหลังจากนั้นอีก 120 วัน
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กัญชงเป็นพืชที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เปลือก ลำต้น เส้นใย ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง เสื้อเกราะ ส่วนช่อดอกนำมาสกัดให้ได้สาร CBD ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร เครื่องสำอาง ขณะที่เมล็ดกัญชงและน้ำมันเมล็ดกัญชง ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง
กฎกระทรวงเปิดกว้างให้กับผู้ขออนุญาตปลูกกัญชงเป็นประชาชน หรือเกษตรกร บุคคลทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน สามารถมาขออนุญาตได้ ซึ่งหากพื้นที่ปลูกอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถยื่นขออนุญาตที่ อย. ส่วนต่างจังหวัดยื่นได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดย สสจ.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจประเมินพื้นที่ พื้นที่ปลูกต้องมีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาเช่าที่ดิน
และตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.64 ที่กฎกระทรวงกัญชงมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศมีผู้มายื่นขออนุญาตปลูกแล้วจำนวนทั้งสิ้น 18 ราย พื้นที่ประมาณ 900 ไร่ โดยมีทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเส้นใย
เลขาธิการ อย.กล่าวว่า แม้ในพื้นที่ภาคเหนือจะมีกัญชงสายพันธุ์พื้นเมืองปลูกอยู่แล้ว แต่คุณภาพในเรื่องเส้นใย และสาร CBD ยังต่ำ ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์คุณภาพจากต่างประเทศ
ส่วนกรณีบริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง-กัญชานั้น ในการนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องส่งเอกสารรายละเอียดชัดเจน เช่น คำสั่งซื้อ สายพันธุ์ เพื่อป้องกันปัญหารั่วไหล เพราะเมล็ดพันธุ์สามารถนำไปใช้เป็นยาเสพติดได้ ซึ่งขณะนี้เอกชนทั้ง 7 รายที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้า ขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งขอมาว่ามีการนำเข้ามาเมื่อไหร่อย่างไร