อิทธิพลจากอุณภูมิโลกสูงขึ้นที่ส่งผลให้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือละลายและได้ขยายวงกว้างไปถึงมหาสมุทรต่างๆนั้น กำลังเป็นประเด็นที่ผู้นำกว่า 80 ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และร่วมกันหารือในที่ประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันนี้
นายอาโนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ออกกฎหมายรักษาสภาพอากาศ รวมถึงประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆทั่วโลกจะร่วมกันพิจารณาว่าสหรัฐจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
"แคลิฟอร์เนียกำลังกระตุ้นให้สหรัฐมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะเข้าร่วมหรือไม่" เขากล่าวแสดงความคิดเห็นก่อนการประชุมดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้
นายราเจนดรา พาชัวริ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติกล่าวว่า มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นมาจากฝีมือมนุษย์ และนั่นก็ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
นอกจากนี้ การประชุมที่มีขึ้นเป็นเวลา 1 วันและมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 150 ประเทศทั่วโลกในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญจากต่างประเทศหลายคนเข้าร่วม อาทิ แองเจล่า เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายนิโคลาส์ ซาโกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมถึงนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีและผู้นำโครงการรณรงค์รักษาสภาพอากาศของสหรัฐ
นายบัน คี-มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้จัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เพื่อสร้างแรงผลักดันทางการเมืองในการจัดการเจรจาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซต่างๆที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐ ซึ่งได้คัดค้านการเจรจาว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกมาโดยตลอดนั้น ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมที่มีขึ้นในวันนี้ แต่จะเข้าร่วมรับประทานอาหารเย็นที่มีเลขาฯยูเอ็นเป็นเจ้าภาพ สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย วณิชชกร ควรพินิจ/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--