สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจห่วงแรงงานข้ามชาติทะลักเข้าไทยทำโควิดระบาดมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Sunday March 28, 2021 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย" กลุ่มตัวอย่าง 1,167 คน สำรวจวันที่ 22 - 25 มีนาคม 2564 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่าการที่แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ มากขึ้น ร้อยละ 67.67 สาเหตุที่แรงงานอพยพเข้าไทย เพราะได้ค่าแรงมากกว่า ร้อยละ 69.01 โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น โควิด-19 ร้อยละ 81.41 สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ร้อยละ 75.16 และมองว่าการที่มีแรงงานอพยพเข้าไทยจำนวนมากนั้นมีผลเสียมากกว่า ร้อยละ 64.44

สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทยจำนวนมากนั้น เป็นเพราะค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงกว่าประเทศต้นทาง รวมถึงสภาพสังคมชีวิตความเป็นอยู่ในไทยก็อาจจะดีกว่าในภาพรวม ทำให้ตัวเลขแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องรับมือในระยะยาว โดยจะต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสมด้วย

นายยุทธพงษ์ ลีลากิจไพศาล รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีเหตุผลหลักคือ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มแรงงานดังกล่าว มีค่าแรงที่ถูกกว่าแรงงานไทย มีความอดทนสู้งาน ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีของนายจ้างทำให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลการสำรวจของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่พบว่าสาเหตุที่แรงงานข้ามชาตินิยมเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 คือ ได้ค่าแรงที่มากกว่า

ส่วนผลกระทบจากกรณีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่กังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ โดยเฉพาะโควิด-19 และมองว่ารัฐบาลควรดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ไม่ทุจริต ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนในสังคมต่างต้องร่วมกันปฏิบัติและรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการใช้แรงงานข้ามชาติกับการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ