นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีน CoronaVac ที่นำเข้ามาจากบริษัท ซิโนแวก ประเทศจีน ล็อตสอง ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววัตถุ ได้รับตัวอย่างวัคซีนดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 จำนวน 2 รุ่นการผลิต และได้เริ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนโดยห้องปฏิบัติการในทันที พบว่าผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนนั้นมีค่าอยู่ในเกณฑ์ยอมรับของการทดสอบทุกรายการ
แต่เนื่องจากกระบวนการรับรองรุ่นการผลิตวัคซีน ต้องมีการพิจารณาข้อมูลสรุปการผลิต และการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต (Summary Production Protocol) ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้มั่นใจว่าวัคซีนนั้นมีกระบวนการผลิตตั้งแต่เชื้อตั้งต้น จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เป็นไปตามกระบวนการที่ได้รับอนุญาต และมีคุณภาพตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงต้องรอข้อมูลดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ผลิตได้ส่งใบรับรองการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วัคซีน (Certificate of Analysis) และ (Summary Production Protocol) มาในวันที่ 30 มีนาคม 2564 และจากการพิจารณาเอกสารข้อมูลของวัคซีนทั้ง 2 รุ่นการผลิต พบว่า ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนได้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย มีคุณภาพตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และเมื่อมีการขนส่งมายังประเทศไทย ได้ตรวจสอบกระบวนการขนส่งมีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิตให้กับวัคซีน CoronaVac ของบริษัทซิโนแวก ทั้ง 2 รุ่นการผลิตที่แจ้งการนำเข้ามารวมกันจำนวน 800,000 โดส เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปให้บริการกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้โดยเร็วต่อไป" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวกจำนวน 8 แสนโดส จะกระจายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการฉีดวันที่ 1 เมษายน 2564 ดังนี้
1. จังหวัดเป้าหมาย 22 จังหวัด ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค 6 จังหวัด 3.5 แสนโดส, พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส โดยอาจเพิ่มกลุ่มพนักงานโรงแรม และพนักงานขับรถสาธารณะ และพื้นที่ชายแดนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส เน้นผู้ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกักตัว
2. จังหวัดอื่นๆ ที่เหลือจำนวน 1.6 แสนโดส เพื่อซักซ้อมความพร้อมทุกจังหวัดก่อนเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยกระจายให้จังหวัดขนาดเล็ก ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวน 800 โดส, จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากร 1 -1.5 ล้านคน จำนวน 1,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษมีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จำนวน 1,200 โดส เน้นการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า
นอกจากนี้ ยังเตรียมวัคซีนสำหรับ อสม.อีกจังหวัดละ 1,000 โดส ดังนั้น จังหวัดขนาดเล็กจะได้รับวัคซีน 1,800 โดส จังหวัดขนาดใหญ่ได้รับวัคซีน 2,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษจะได้รับวัคซีน 2,200 โดส
สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด ตามปกติสามารถฉีดได้ 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร เนื่องจากผู้ผลิตได้บรรจุวัคซีนมาเผื่อ โดย 1 ขวดมีวัคซีนปริมาณ 6.5 มิลลิลิตร หากบริหารจัดการการฉีดอย่างดีอาจฉีดได้ 11-12 โดสต่อขวด จะทำให้ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำรวจความต้องการผู้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามความสมัครใจ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การกระจายและฉีดวัคซีนจะใช้แนวทางขับเคลื่อนวัคซีน คือ 1.Area โดยจัดลำดับพื้นที่ เน้นอำเภอที่เป็นจุดเสี่ยงระบาดและมีนักท่องเที่ยว ฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า/ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อน แล้วกระจายอำเภออื่นลดหลั่นลงไป
2.Setting หรือสถานที่ฉีด อาจดำเนินการเพิ่มได้ในโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือการออกหน่วยบริการ เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยมีขั้นตอนการฉีดตามมาตรฐาน เน้นการสังเกตอาการให้ครบ 30 นาทีหลังฉีด และมีทีมแพทย์ดูแลเรื่องความปลอดภัย และ 3. Data ดำเนินการเรื่องข้อมูลผ่านระบบไลน์หมอพร้อม